Guide

เจาะลึก NFT สู่ความมั่งคั่งในโลกดิจิทัล

NFT คืออะไร ทำไมนักลงทุนถึงสนใจ และ ช่วยให้รวยมั่งคั่งได้จริงหรือ?

ในยุคปัจจุบันและอนาคต มนุษย์คงหนีไม่พ้นคำว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” ขึ้นอยู่กับว่า เป็นผู้สร้าง ผู้เสพ หรือ ผู้ฉลาดใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่หันมาสนใจ เทคโนโลยีบล็อกเชน คริปโทเคอร์เรนซี บิตคอยน์ และล่าสุด คือ เอ็นเอฟที (NFT) ที่มีมูลค่าตลาดในปี 2021 สูงถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเว็บไซต์ dappradar.com (ข้อมูลจาก DappRadar ) ได้เปิดเผยว่ามีผู้เปิดบัญชีซื้อขายทั่วโลกประมาณ 2.7 ล้านราย กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากในช่วงนี้ และเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับ NFT ว่า NFT คืออะไร ทำไมนักลงทุนถึงสนใจ และ ช่วยให้รวยมั่งคั่งได้จริงหรือ? ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้ อยากจะบอกว่า NFT เป็นเรื่องใหม่และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่จะพยายามย่อยให้ง่ายที่สุดนะครับ

 NFT มีชื่อเต็มว่า NON-FUNGIBLE TOKEN เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือ ลอกเลียนแบบได้ ถูกสร้างขึ้นมาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยมีหลักการสร้างสำคัญ 3 ประการ คือ

1. Uniqueness = มีเอกลักษณ์เฉพาะ

2. Rarity = มีจำนวนจำกัด

3. Indivisibility = ไม่สามารถแบ่งซื้อขายเป็นหน่วยย่อย หรือแตกเหรียญย่อยและแลกเปลี่ยนเหมือนสกุลเงินทั่วไป (Fiat currency) แบบ เงินบาท หรือ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญของ NFT เพราะ มีชิ้นเดียวและต้องซื้อทั้งจำนวน(ข้อมูลจาก Cointelegraph)

ในการสร้าง NFT เริ่มจากผู้สร้างออกแบบงานตามคุณสมบัติที่กล่าวมา โดยงานที่นำมาสร้างอาจจะเป็นผลงานที่มีอยู่ก่อนบนโลกจริงแล้วนำมาเข้ารหัสเปลี่ยนสภาพให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลต้นฉบับชิ้นเดียวบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ยกตัวอย่าง ภาพคอลลาจชื่อ Everydays: The First 5,000 Days ของศิลปิน Beeple เป็นการนำผลงานภาพวาดบนโลกจริง 5,000 ชิ้นที่สะสมมาเป็นเวลา 13 ปี นำมาเรียงร้อยใหม่ในภาพเดียวบนเทคโนโลยีบล็อกเชนกลายเป็นภาพใหม่ต้นฉบับบนโลกเสมือนจริง มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนจะไม่อนุญาตให้เกิดการทำซ้ำ หรือ ลอกเลียนแบบได้ ผู้สร้างจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเพียงผู้เดียวและสามารถตรวจสอบสิทธิ์ความถูกต้องในบันทึกการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดผ่านระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ตลอดเวลา

เมื่อผู้สร้างนำผลงานไปแปลงสภาพเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้แล้วบนแพลตฟอร์ม เช่น Mintable, OpenSea, Rarible หรือ Binance NFT ผู้สร้างก็นำ NFT ไปเทรดค้าขายในตลาดได้ โดยผู้ซื้อผู้ขายจะต้องมีบัญชีกระเป๋าตังค์ดิจิทัลเสียก่อน เช่น MetaMask Wallet หรือ Ronin Wallet ซึ่งการซื้อขาย NFT ก็จะเหมือนกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป คือ สามารถซื้อขาย NFT ด้วยสกุลเงินดิจิทัล โดย Ethereum จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมในการซื้อขาย NFT เพราะปกติ NFT ส่วนใหญ่จะใช้ Ethereum Blockchain บนมาตรฐาน ERC-721 และ ERC-1155 ในการแปลงสภาพสินทรัพย์บนโลกจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบไฟล์ต่างๆ เช่น GIF, JPEG, หรือ MP3 ดังนั้น NFT จึงเป็นที่นิยมในแวดวงศิลปะ ความบันเทิง เกมส์ กีฬา และเสื้อผ้าแฟชั่น เหตุผลที่ NFT เป็นที่นิยมในวงการศิลปะแฟชั่น เนื่องจาก ผู้ซื้อ NFT ส่วนใหญ่เป็นนักสะสมงานศิลปะที่ชอบการลงทุนด้วยเช่นกัน นักสะสมมีแรงจูงใจในการซื้อ NFT เช่นเดียวกับการสะสมของมีค่าชิ้นเดียวในโลก ส่วนนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน NFT เพราะรู้ว่าเขาสามารถนำ NFT มาขายต่อในตลาดได้ นักสะสมที่มีนิสัยนักลงทุนจะยอมควักตังค์จ่ายกับ NFT ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ความภูมิใจในการครอบครองผลงานชิ้นเดียวในโลก และ สามารถขายต่อในราคาสูงๆได้


ตัวอย่างผลงาน NFT ที่มีการซื้อขายแพงๆ และชื่อเสียงดังระดับโลก เช่น ไฟล์ NFT ภาพ Everydays : The First 5,000 days ของ Beeple มูลค่า 2,204 ล้านบาท

ภาพ 1. เอฟรีเดส์: เดอะเฟิร์สท์ 5000 เดส์
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki

ไฟล์ NFT ภาพข้อความ Twitter สั้นๆ ชื่อว่า Just setting up my twttr ของ Jack Dosey ที่เขาใช้ทวิตเตอร์ครั้งแรก มูลค่า 87 ล้านบาท

ภาพ 2 : ภาพ First tweet by Jack Dorseys
ที่มา : https://www.adweek.com/media/want-to-buy-jack-dorseys-first-tweet-itll-be-2-5-million/

ไฟล์ NFT ภาพมีม “Disaster Girl” มูลค่า 15 ล้านบาท

ภาพ 3 : ภาพมีม “Disaster Girl” ประมูลในเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์ม Foundation.app
ที่มา : https://www.techhub.in.th/disaster-girl-becomes-an-nft-sold-for-180-eth/

ไฟล์ NFT ภาพ Bored Ape Yacht Club มูลค่า 7 ล้านบาท

ภาพ 4 : Bored Ape Yacht Club
ที่มา : https://thestandard.co/bored-ape-yacht-club-highest-nft-value/

หรือ ไฟล์ NFT ในวิดิโอภาพยนตร์โฆษณาของแบรนด์ GUCCI มูลค่า 750 ล้านบาท เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า NFT สามารถสร้างได้จากหลากหลายความคิด ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ขอให้ยึดหลักการสำคัญ คือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและหายาก มีจำนวนจำกัด เท่านั้น ซึ่งคนสามัญธรรมดาหลายคนก็รวยจาก NFT ด้วยความคิดง่าย เช่น ภาพ หนุ่มอินโดนีเซีย ชื่อว่า “โกซาลี โกซาลู” กลายเป็นเศรษฐีข้ามคืนภายหลังจากขายภาพ NFT เซลฟีหน้าตัวเองทุกวันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เขาอายุ 18-22 ปี มีทั้งหมด 933 ภาพ โดยมีผู้ซื้อไปมูลค่ารวม 31 ล้านบาท สำหรับ NFT คนไทยก็มีดังๆหลายชิ้น เช่น NFT ชื่อ Gangster All Star ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายที่ 4.7 ล้านบาท จากศิลปินคนไทย “เดอะดวง” (The Duang) นักวาดภาพประกอบและนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในวงการมานานกว่า 10 ปี โดยใช้คอนเซ็ปต์แก๊งมาเฟียญี่ปุ่นมาเป็นตัวเล่าเรื่อง (ข้อมูลจาก The Standard)

การพัฒนาตลาด NFT เชื่อมโยงระหว่างโลกจริงและโลกดิจิทัล หลายแบรนด์กำลังทุ่มเทศึกษาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาจากรูปแบบ Crypto-art token, และ Fan token ไปสู่รูปแบบอื่นๆที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนา NFT ในรูปแบบเกมส์มากขึ้น โดยเน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การซื้อขาย การครอบครองสิทธิ์และสิทธิประโยชน์ การมอบส่วนลด หรือ การมอบสิทธิผู้ถือ NFT สามารถออกเสียงโหวตจริงในการดำเนินธุรกิจ เช่น แบรนด์ Louis Vuitton เปิดตัวเกมส์ Louis the Game โดยเกมส์จะให้ผู้เล่นผจญภัยเพื่อเก็บ NFT มาเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ทางแบรนด์จะมอบให้ เช่น สิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าแฟชั่นแบบ limited edition หรือ นำมาเป็นส่วนลดต่างๆ วงการกีฬาแบรนด์ดังๆอย่าง Nike, Adidas และ Under Armour ออกแบบรองเท้าใหม่ในวีดีโอเกมหรือในเมตาเวิร์ส (metaverse) โดยเชื่อมกับโลกจริงให้ผู้ซื้อ NFT สามารถครอบครองรองเท้าจริงรุ่นล่าสุดเป็นคนแรกก่อนใคร กลยุทธ์นี้ส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่ามากขึ้น เช่น นักลงทุนซื้อ NFT ชุด “Into the Metaverse” ของ Adidas ด้วยมูลค่า 765 ดอลลาร์นั้น สามารถนำไปขายต่อได้มากกว่า 2,500 ดอลลาร์ในตลาด NFT ส่วนรองเท้ากีฬาเสมือนจริงของ Under Armour รุ่น Genesis Curry Flow ถูกนำออกขายครั้งแรกราคาคู่ละ 333 ดอลลาร์ และสามารถขายต่อในราคาสูงถึงคู่ละ 15,000 ดอลลาร์

โลก NFT ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ เช่นกัน มีการพัฒนา NFT บนโลกเสมือนจริงในเกมส์ของ Axie Infinity, Somnium Space, The SandBox และ Decentraland เจ้าของ NFT จะได้กรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน บ้าน อาคารสำนักงาน หรือ ร้านค้า บนทำ CBD หรือ Prime Area ในโลกดิจิทัล ที่ประหลาดใจ คือ NFT อสังหาเหล่านี้ มียอดขายรวมมากกว่า 2,600 ล้านบาท สามารถนำมาปล่อยเช่าต่อหรือก่อสร้างสิ่งต่างๆบนพื้นที่ตัวเองซึ่งไม่ต่างจากโลกจริงเลย คนดังๆหลายคนกระโดดเข้าสู่ NFT อสังหาฯ เช่น Snoop Dogg เป็นแร็ปเปอร์คนแรกๆ ที่พัฒนาที่ดินในชื่อ Snoopverse บน Metaverse platform เกมส์ชื่อ The Sandbox โดย Snoopverse สร้างคฤหาสน์ และ อีเวนต์ปาร์ตี้ สำหรับสมาชิกเท่านั้น เขาทำรายได้ราวๆ 133.6 ล้านบาท ซึ่งมีสมาชิกลงทุนซื้อ NFT ที่ดินราคาสูงสุดคือแปลงละ 15 ล้านบาท


ภาพที่ 5 : ที่ดินใน Snoopverse บน The Sandbox
ที่มา https://thestandard.co/land-in-metaverse-with-5-real-estate/

ส่วนบริษัท Boson Protocol ผู้พัฒนาระบบการค้าอีคอมเมิร์ซตัดสินใจซื้อที่ดินใน Decentraland เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้าในโลก Metaverse ด้วยมูลค่าสูงถึง 23.5 ล้านบาท โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถขายผลิตภัณฑ์ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยการนำสินค้านั้นๆแปลงเป็น NFTs แล้วมาจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในโลก Metaverse คนธรรมดาสามัญก็เริ่มเข้าลงทุนใน NFTs อสังหาฯ มากขึ้นในวิธีการหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากโลกความเป็นจริงพวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้านหรูบนที่ดินจริง เช่น ย่านถนนพระราม 9 ได้ หรือ นักลงทุนบางท่าน ก็ พลาดโอกาสเป็นเจ้าของห้อง Penthouse ในโครงการหรูๆ เช่น ดิ อิสสระ สาทร ดังนั้น หากมีผู้สร้าง NFTs ตอบสนองความต้องการอสังหาในโลกคู่ขนาน ก็จะมีนักลงทุนที่ไม่อยากพลาดโอกาสครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนทำเล CBD ในโลกเสมือนจริง

สาเหตุที่ NFT เป็นที่นิยมของนักลงทุนบนโลกดิจิทัล คือ การได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สินทรัพย์ที่มีจำกัด การซื้อขายโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง และ การได้ครอบครองสิ่งที่นักลงทุนพลาดโอกาสในครอบครองในโลกความเป็นจริง ซึ่งนักลงทุนจะคาดหวังว่า มูลค่า NFT จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้น ก่อนการลงทุน นักลงทุนควรพิจารณา

1. ชื่อเสียงผู้สร้าง NFT ประวัติที่มาของ NFT

2. ความหายากของผลงานหรือสินทรัพย์ และ จำนวนคนที่ชื่นชอบผลงานนั้นๆ

3. ราคาและปริมาณซื้อขาย นักลงทุนควรตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ว่ามีขอบเขตแค่ไหน และ

4. ความเสี่ยงในการลงทุนจากความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ แม้ว่าโอกาสและแนวโน้มตลาด NFT จะดูน่าตื่นเต้น และ มูลค่าสูง แต่นักลงทุนควรตระหนักเสมอว่า NFT มีความเสี่ยง

5. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บนโลกเสมือนจริงเท่านั้น

6. ค่าใช้จ่ายสูงในการทำธุรกรรม เพราะบางธุรกรรมมีค่าใช้จ่ายหลักพันบาท

อย่างไรก็ตาม NFT เป็นนวัตกรรมใหม่ นักลงทุนยังไม่มีความรู้ความใจ รวมถึงความน่าเชื่อถือของตลาด NFT ในการซื้อขาย เพราะตลาด NFT ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แห่งประเทศไทย ผู้ที่สนใจลงทุนจึงควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมประกอบการตัดสินใจ