“โบนัส…ออกแล้ว” นี่น่าจะเป็นเสียงสวรรค์ที่หลายคนตั้งตาคอย ถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่องค์กรมีผลกำไร หรือ เจ้านายใจดี แจกโบนัส ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง จริงไหมครับ?
แต่ในยุคเศรษฐกิจทรุดท่ามกลางโรคโควิดระบาด เราจะใช้เงินโบนัสอย่างไรให้คุ้มค่า อันนี้เป็นข้อคิดก่อนถลุงเงินไปกับความสุขเพียงชั่วคราว อย่าเผลอคิดไปว่า “เงินโบนัส” เป็นเงินลาภลอยส่งท้ายปี นะครับ เพราะจริงๆ มันก็ คือ เงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเราทั้งปีเหมือนกัน จะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้ หากเผลอแป๊บเดียว เงินโบนัสเกลี้ยงกระเป๋าแน่ ดังนั้น เราต้องมี
โดยปกติ คนจะแบ่งเงินออกเป็น 4 ประเภท คือ
▶ เงินใช้สอยในชีวิตประจำวัน
▶ เงินออมฉุกเฉิน
▶ เงินลงทุนเพื่ออนาคต
▶ เงินชดใช้หนี้
ถ้าเราโชคดีไม่มีหนี้สิน เราก็มีเงินเหลือพอสำหรับ กินอยู่ เก็บออม และ ลงทุน สำหรับเงินโบนัสที่ได้มาเป็นก้อนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเก็บออม และ ลงทุนครับ เพราะเป็นเงินส่วนเกินจากเงินเดือนปกติ
การบริหารเงินโบนัสจึงต้องมีเป้าหมายชัดเจน เราควรทำรายการ (To-Do List) เพื่อการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นจากเงินโบนัสว่ามีอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกๆ เช่น ซื้อบ้านหรือตกแต่งบ้านใหม่ ลงเรียนคอร์สพัฒนาตนเองตามที่ใฝ่ฝัน บางคนอาจจะเอาเงินโบนัสไปซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ หรือ เอาไปเคลียร์หนี้บัตรเครดิตได้ตามความจำเป็นที่เราคิดว่ามันสำคัญจริงๆ แต่ไม่ว่า เราจะเรียงความสำคัญอย่างไร ควรเผื่อเงินโบนัสอย่างน้อย 20% เพื่อสร้าง “อนาคต” ตามแนวคิด Pay ourselves first ของ Mr. Robert Kiyosaki เพราะการใช้โบนัสให้ได้เงินเพิ่มงอกเงยแบบเงินต่อเงิน จะช่วยผ่อนแรงเราในอนาคตจริงๆครับ
1. ซื้อสลากออมทรัพย์
เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคนที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ ข้อดีคือใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยและได้ “ดอกเบี้ย” จากการออมเงินเมื่อครบกำหนดฝาก แล้วยังมีโอกาสถูกรางวัลเหมือน "ลอตเตอรี่" อีก
ปัจจุบัน มีสลากออมทรัพย์ของ 3 ธนาคารผู้ให้บริการ คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ยกตัวอย่าง สลากออมทรัพย์ที่ลงทุนต่ำสุด เช่น สลากเกษตรยั่งยืน ธ.ก.ส." เริ่มต้นหน่วยละ 20 บาท อายุสลาก 2 ปี ครบกำหนดได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี และ ออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของทุกเดือน รางวัลสูงสุดมูลค่า 2 ล้านบาท เป็นต้น
2. ลงทุนเปิดกิจการเล็กๆ สำหรับ มนุษย์เงินเดือน
ถือว่า เป็นการลงทุนจากเวลาว่าง เพื่อตอบสนอง passion ในชีวิต หรือ สร้างกิจการรองรับวัยเกษียณ ซึ่งการเปิดกิจการเล็กๆ มีทั้งแบบคิดใหม่ทำใหม่ เกาะกระแส และ ซื้อแฟรนไชส์ โดยในปี 2565 มีผลสำรวจจากหลายสำนักสรุปธุรกิจดาวรุ่งตรงกัน คือ ธุรกิจทำคอนเทนต์รีวิวสินค้าบริการออนไลน์ ธุรกิจขายอาหารและผลิตภัณฑ์ความงามออนไลน์ ธุรกิจออกแบบแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น ธุรกิจแฟรนไชส์บริการขนส่ง และธุรกิจแฟรนไชส์การแพทย์ คลินิกความงาม และ เวชภัณฑ์ เป็นต้น
3. ซื้อกองทุนรวม หรือ หุ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดหุ้นร่วงมา 2 ปีติดๆ กันจากผลกระทบโควิด และ หลายสำนักก็คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รอเวลาฟื้นตัว ซึ่งในปี 2565 เศรษฐกิจไทยประเมินว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.0-4.5% ดังนั้นการลงทุนในหุ้นและกองทุนจึงเป็นโอกาสที่ดี
โดยมีหลักพิจารณา 3 ประการสำคัญ คือ
1. การลงทุนลดหย่อนภาษีได้ไหม? เช่น ซื้อกองทุนรวม SSF หรือกองทุนรวม RMF
2. การลงทุนมีผลตอบแทนดีไหม? เช่น ซื้อหุ้นกลุ่มคุณค่า (VI) ที่ให้ผลตอบแทนกำไรเฉลี่ยเกิน 8% ในช่วงเวลา 3 ปีติดกัน
3. การลงทุนมีความเสี่ยงมากแค่ไหน? เช่น การซื้อหุ้นหรือกองทุนในธุรกิจดาวรุ่งดาวร่วงตามเทรนด์โลก เช่น ซื้อกองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH) ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลก เป็นต้น
4. ลงทุนคริปโทฯ
เป็นเทรนด์ใหม่มาแรงมากในปี 2565 ถึงแม้จะมีข่าวการเก็บภาษีกำไรจากการเทรดเหรียญคริปโทฯ แต่คาดการณ์ว่าตลาดยังคงร้อนแรงต่อเนื่องเพราะวัยรุ่นเจน Z ยังคงชื่นชอบสินทรัพย์ดิจิทัลตามกระแสโซเชียล
โดยการลงทุนคริปโทฯ จะแบ่งเป็นการลงทุน 2 แบบ คือ
1. การขุดเหรียญ จากการเป็นเซิร์ฟเวอร์เก็บธุรกรรมต่างๆ และแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อได้เหรียญมาครอบครอง
2. การเทรดเหรียญ ซึ่งจะคล้ายๆ กับการซื้อขายหุ้น มีอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด
เหรียญคริปโทฯ ที่นิยม คือ Bitcoin และ USDT เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรจะซื้อ-ขาย จาก ศูนย์ที่มีใบอนุญาต เช่น Bitkub, SatangPro หรือ ZIPMEX
5. ซื้ออสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากผลกระทบโควิดทำให้ราคาอสังหาฯ โดยเฉพาะราคาคอนโดฯลดลงอย่างน้อย 10% ดังนั้น เป็นจังหวะที่นักลงทุนน่าจะซื้อคอนโดปล่อยเช่าในปี 2565 นี้เพราะได้ราคาและโปรโมชั่นดี แถมรัฐบาลยังยืดขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมโอน 0.01% จนถึงปลายปีนี้ ซึ่งทำให้นักลงทุนมีต้นทุนซื้ออสังหาฯ ที่ต่ำกว่าปีก่อนๆ มากในขณะที่อนาคตราคาอสังหาฯ มีแต่จะเพิ่มขึ้นทวีคูณจากหลายๆ ปัจจัย
........
ข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมานี้เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ สำนักทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับความเห็นส่วนบุคคล และด้วยพื้นที่จำกัด ไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้ทั้งหมด นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนตาม 5 วิธีการสุดฮอตที่กล่าวมานี้ เพื่อการบริหารจัดการเงินโบนัสของท่านอย่างคุ้มค่า ทุกบาททุกสตางค์ อย่าลืมว่า เงินโบนัสมาจากหยาดเหงื่อแรงกายที่ท่านทำมาทั้งปี ดังนั้น จงมีสติเวลาใช้สตางค์นะครับ