Insight

เตรียมความพร้อมเปิดประตูสู่ภาคอีสาน “โคราช” ชูระบบคมนาคม กับเส้นทางการเดินทางที่ครบครัน

เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนในวันหยุด


จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ถือเป็นประตูเมืองสู่ภาคอีสาน มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 259 กิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ด้วยความที่นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งอุทยานแห่งชาติฯ ป่าเขาลำเนาไพร แม่น้ำลำธาร ตลอดจนวัดวาอารามและโบราณสถานสำคัญต่างๆ จึงทำให้นครราชสีมาเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนในวันหยุด

จากความสำคัญข้างต้นทำให้ระบบการคมนาคมของจังหวัดนครราชสีมา จึงต้องมีแผนพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคมนาคมขนส่ง ทางถนน ทางราง และทางอากาศ เพื่อเป็นส่วนช่วยพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นไปอีกระดับ


วันนี้ Issara Life Blog จะพาท่านผู้อ่านมาอัพเดทแผนการพัฒนาระบบคมนาคมอย่างรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นโปรเจกต์ที่ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงได้ติดตามข่าวสารกันมาบ้าง และรอข้อสรุปว่าเมื่อไหร่จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างกันสักที และในบทความนี้ Issara Life Blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ซึ่งได้มาอัพเดทว่าที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทสำหรับเมืองหลักๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก โดยในส่วนของแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา มีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 3 สาย แต่มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้ดำเนินการสายเดียวก่อน คือ สายสีเขียว ซึ่งเป็นสายที่มีความสำคัญที่สุด ระยะทาง 11 กิโลเมตร รวม 21 สถานี ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนาศรีสวัสดิ์ ประกอบไปด้วยสถานีมิตรภาพ 1, สถานีสามแยกปักธงชัย, สถานีมิตรภาพ 2, สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, สถานีสวนภูมิรักษ์, สถานีหัวรถไฟ, สถานีเทศบาลนคร, สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง, สถานีโพธิ์กลาง, สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, สถานีแยกประปา, สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยาลัย, สถานีราชภัฏฯ, สถานีราชมงคล, สถานีบ้านเมตตา, สถานีบ้านนารีสวัสดิ์, สถานีชุมพล, สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา, สถานีไปรษณีย์จอมสุรงค์, สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง

ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างจะเป็นในรูปแบบของรถไฟฟ้ารางเบา TRAM หรือเป็นระบบรถโดยสารอัตโนมัติ(ART) ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงคมนาคม ขอให้ รฟม. พิจารณาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าระบบ ART อีกครั้งหนึ่ง เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันทำให้ตัวระบบรถไฟฟ้า เริ่มที่จะไม่ใช้รางเหล็กแบบ TRAM มีการปรับเปลี่ยนไปใช้รางในรูปแบบอื่น โดยระบบ ART เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ นอกจากจะสามารถจุผู้โดยสารไม่ได้แตกต่างกันจาก TRAM แล้วรูปร่างภายนอกยังมีลักษณะเหมือนตู้รถไฟฟ้า สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 คนต่อขบวน ความเร็วในการวิ่งเฉลี่ยที่ 35 กม.ต่อชั่วโมง (รวมระยะในการหยุดรับผู้โดยสารแต่ละสถานีแล้ว) ขณะที่ความเร็วสูงสุดสามารถทำได้ 80 กม.ต่อชั่วโมง ประหยัดงบประมาณในการลงทุนที่ถูกลง ซึ่งรูปแบบรถเป็นแบบผสมระหว่างรถโดยสารล้อยาง และ รถรางล้อเหล็ก ดังนั้น ART จึงเป็นรถไฟฟ้าแบบรถราง ล้อยาง ที่สามารถเดินรถโดยใช้ช่องทางเดินรถร่วมกับรถสัญจรทั่วไป และยังสามารถทำเป็นแบบยกระดับหรือใต้ดินได้เช่นกัน โดยรูปแบบนี้จะไม่มีการก่อสร้างรางรถไฟฟ้า สามารถวิ่งได้อัตโนมัติตาม Virtual Track ซึ่งถูกทาสีอยู่บนพื้นถนน คล้ายกับสัญลักษณ์จราจร ดังนั้นจึงทำให้งบการก่อสร้างของรูปแบบนี้มีราคาไม่สูง ลดภาระต้นทุนในการดำเนิน

ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

มาต่อที่ด้านแผนการก่อสร้างนั้น รฟม. ได้เล่าให้ฟังว่าตามแผนจะไม่มีการแบ่งเฟสการก่อสร้าง รฟม.จะดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกันรวมระยะทาง 11 กม. 21 สถานี จุดเริ่มต้นจะเริ่มตรงหัวถนนมิตรภาพ วิ่งตรงตัดเข้าสู่ตัวเมืองโคราช ทั้งเส้นทางจะวิ่งในระดับพื้นดินทั้งหมดไม่มีการยกระดับ ไม่มีลงใต้ดิน โดยแผนงานหลักๆ จะเข้ากระบวนการตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 ซึ่งจะมีขั้นตอนการทำงานอยู่พอสมควร โดยขบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาไปจนถึงปี 2568 หลังจากนั้นก็จะเริ่มก่อสร้างประมาณปลายปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ซึ่งหากการดำเนินการก่อสร้างระบบดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น TRAM หรือ ARTแล้วเสร็จจะช่วยลดการกระจุกตัวของประชากรทั้งในพื้นที่และนักท่องเที่ยว บรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และยังเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเส้นทางต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นปากช่อง ได้มีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้หลังจากเปิดใช้งานแล้ว รฟม.จะประเมินผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางที่น้อยลง สามารถจอดรถไว้ที่บ้านแล้วมานั่งรถไฟฟ้า รวมถึงทำให้มลพิษทางอากาศลดน้อยลง เมื่อมีการประเมินแล้วว่าส่วนต่อขยายมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน รฟม. ก็จะดำเนินการต่อไปในเฟส 2 สายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วง ม.วงษ์ชวลิตกุล-ค่ายสุรนารายณ์ รวม 17 สถานี ประกอบด้วย สถานีเซฟวัน, สถานีตลาดมิตรภาพ, สถานีอู่เชิดชัย, สถานีซอยกิ่งสวายเรียง, สถานีเทสโก้โลตัส, สถานีเดอะมอลล์, สถานีเค.เอส.พาวิลเลี่ยน, สถานีธนาคารเกียรตินาคิน, สถานีเทอร์มินอล 21, สถานีโรงพยาบาลเซนต์เมรี่, สถานี บขส.2, สถานีแม็คโคร, สถานีเมกาโฮม, สถานีเซ็นทรัลพลาซ่า, สถานีวงษ์ชวลิตกุล, สถานีซอยสุรนารายณ์ 13 และสถานบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งในส่วนของสายนี้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้ง สถานศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางมายัง บขส. เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อเข้าตัวเมืองปากช่อง หรือจังหวัดใกล้เคียงให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งหากแผนการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์บนท้องถนน ซึ่งช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากที่ประเมินว่าในปี 2571 เราจะได้เห็นรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมากันแล้ว ในส่วนของอัตราค่าโดยสารจะมีการเรียกเก็บในอัตราเท่าไหร่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะถ้าดูจากอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใน กทม.อย่างสายสีน้ำเงิน รฟม.มีการตั้งอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท ไปจนถึง 42 บาท ซึ่งอัตรานี้คงไม่สามารถนำไปใช้ในหัวเมืองหลักอย่างนครราชสีมาได้ ประชาชนในพื้นที่อาจจะไม่สามารถรับอัตราค่าโดยสารในระดับราคานี้ได้ โดยในเบื้องต้น รฟม.คาดว่าจะเริ่มเก็บในอัตรา 10 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ตั้งไว้คร่าวๆ โดยจะมีการทบทวนใหม่เป็นระยะ ก่อนจะเปิดให้บริการจริง เพื่อตั้งราคาโดยสารให้มีความเหมาะสมต่อไป

และนี่ก็คือแผนพัฒนาระบบคมนาคมของจังหวัดนครราชสีมา ที่เราคิดว่าอีกไม่นานเกินรอจะได้เห็นหน้าตาของระบบรถไฟฟ้านี้กันแล้ว อีกทั้งในอนาคตการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ในหัวเมืองจะมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น สมกับเป็นประตูสู่ภาคอีสานที่จะเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมไทยกับลาว เวียดนาม จีน ยุโรป และเวทีโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค รวมทั้งส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป