Lifestyle

เลาะรั้วชมงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม โรงเรียนสุภาพบุรุษ “วชิราวุธวิทยาลัย”

เยี่ยมชมความงดงามของศิลปะ และงานสถาปัตยกรรมภายในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

“เจ้าเหล่านี้ ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหลประพฤติแต่ความเสื่อมเสีย พ่อก็โทมนัส ลูกคนใดที่ประพฤติตนเลวทรามต่ำช้า เป็นเหตุให้พ่อได้ความโทมนัส ลูกคนนั้นเป็นลูกเนรคุณพ่อ"

พระบรมราโชวาทที่จารึกไว้ใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ที่ปัจจุบันที่คือ “วชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยพระราชทานที่ดิน “สวนกระจัง” 100 ไร่ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และที่ดินบริเวณซอยมหาดเล็กหลวงให้เป็นทุนที่ใช้ดำเนินการ

 Issara Life Blog ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมความงดงามของศิลปะ และงานสถาปัตยกรรมภายในโรงเรียนครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างสูงจาก นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ที่มอบหมายให้ ดร.พิพัฒน์ พรพรรณนุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร นำชมโรงเรียนและได้บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพหลายต่อหลายรุ่นออกสู่สังคม โดยระบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจของวชิราวุธวิทยาลัย คือ เน้นการอบรมบ่มนิสัย สร้างเด็กให้เป็น “สุภาพบุรุษ” เน้นความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม การบรรลุถึงเป้าหมายนี้ ทำได้ด้วยการปฏิบัติจริง เพราะลักษณะพิเศษของวชิราวุธวิทยาลัยมี 3 ประการคือ 1.การเป็นโรงเรียนประจำ 2.การให้เด็กปกครองกันเอง และ 3.การมีการศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งการที่เด็กมาอยู่ร่วมกัน ต้องระมัดระวังการประพฤติตัว ไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนผู้อื่น คือ การ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง การมีความองอาจแต่อ่อนน้อมอ่อนโยน ก็เป็นลักษณะพิเศษของนักเรียนที่มีผู้กล่าวถึงและชมเชยเสมอ ที่สำคัญคือ การปกครองตนเอง และปกครองกันเอง ทำให้มีความเป็นผู้นำแต่ก็สามารถเป็นผู้ตามได้ด้วย

สถาปัตยกรรมพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 แม้อาคารเรียนต่างๆจะดูคล้ายกับวัดวาอาราม แต่วชิราวุธวิทยาลัยก็มีความโดดเด่นด้านงานสถาปัตยกรรมไม่น้อย ในการก่อสร้างโรงเรียนถาวรที่สวนกระจังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริว่า วิชาช่างของไทยเคยเจริญรุ่งเรืองมาอย่างช้านาน แต่คนไทยในยุคหลังพากันหลงลืมและหันไปนิยมงานช่างแบบตะวันตก โดยคิดกันไปว่าเป็นของทันสมัยทั้งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองไทย เมื่อออกแบบก่อสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ (Edward Healey) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างเดินทางไปศึกษารูปแบบศิลปกรรมไทยฝีมือชั้นครูที่จังหวัดสุโขทัย หอประชุม(หอสวด) และตึกนอนนักเรียนที่สี่มุมโรงเรียน โดยนายฮิลลี่เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตะศิลปิน) นายช่างออกแบบของ กรมศิลปากร จึงเป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในแวดวงสถาปัตยกรรมไทยเรียกว่า “สถาปัตยกรรมพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

หอประชุม (หอสวด)

 ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของโรงเรียน เป็นอาคารรูปทรงโกธิกที่ผสานรูปแบบศิลปกรรมไทยตามแนวคิดของ ศาสนสถานในพระพุทธศาสนาไว้อย่างกลมกลืน หน้าบันของหอประชุมทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์เทพทั้งสี่ในศาสนาฮินดู หอประชุมนี้จึงเปรียบเสมือนวิมานของทวยเทพ และเป็นที่ประชุมสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน ประกอบพิธีกรรมสำคัญของโรงเรียนสืบมาจนปัจจุบัน หอประชุมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบหอสวดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นปฐม เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2460 เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ ออกแบบหอสวดประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นไปตามแบบของพับลิกสกูล ในอังกฤษ คืออยู่ตรงกลางโรงเรียน แต่ยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้สถาปัตยกรรมไทยและให้หันหน้ามาทาง ทิศตะวันออก โดยมีลักษระรูปทรงจตุรมุข แต่ยกพื้นสูงโดยมีเสาย่อมุมไม้สิบสองเรียงรายถึง 98 ต้นที่ใต้ถุน ส่วนชั้นบนเป็นศาลาโถงมีเฉลียงรอบ มีเสาในเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสองเป็นเสาประธานรับขื่อและจั่ว เสานอกรับหลังคาเฉลียงเหมือนกับศาลาการเปรียญ ส่วนของหลังคานั้นทำเป็นหลังคาลดสี่ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง พร้อมหน้าบันไม้จำหลักลายมีซุ้มคอสองที่ด้านล่าง

ตึกวชิรมงกุฎ

เป็นตึกเรียน 2 ชั้น มีทั้งหมด 12 ห้องเรียน สร้างขึ้นโดยเงินทุนพระราชทานในพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเงินสะสมของโรงเรียนในวงเงินค่าก่อสร้าง 105,900 บาท เป็นตึกทรงไทย 2 ชั้น มีมุขหน้าและมุขหลัง ที่ตอนปลายอาคารทั้งสองด้านหลังคาลดสามชั้นพร้อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมุขหน้าเป็นปูนปั้นลายใบเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกเรียนถาวรที่ได้พระราชทานนามว่าตึกวชิรมงกุฎ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475

ตึกครูและนักเรียน

ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า House ซึ่งแปลว่า บ้าน เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น ในพับลิกสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบ้านของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า ‘คณะ’ เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎิสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กัน โดยมีครูกำกับคณะ หรือ House Master หรือที่เรียกกันว่าผู้กำกับคณะ เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้าที่เจ้าคณะปกครองดูแลสงฆ์ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. 2458 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่ 4 มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน โดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่เป็นผู้ออกแบบอาคารทั้งสี่คณะแรก นอกจากมีผู้กำกับคณะ ยังมีหัวหน้าคณะ คือกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยในคณะตนเอง

คณะผู้บังคับการ (School House)

มีที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของคณะคือ School House เพื่อรักษาประเพณีของ Public schools ที่คณะนี้มีผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 120,000 บาท สีประจำคณะคือสีฟ้า


คณะดุสิต (Dusit House)

มาจากนามของพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 130,000 บาท แต่ต่อมาเสียหายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินประเทศพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารคณะดุสิตได้ถูกทำลายลง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2496 โดยต่อมาได้มีการบูรณะคณะดุสิตขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 จนสภาพเป็นเช่นในปัจจุบัน สีประจำคณะคือน้ำเงินอ่อน


คณะจิตรลดา (Chitralada House)

มาจากนามของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 145,000 บาท ว่ากันว่า ก่อสร้างคณะจิตรลดาให้วิจิตรงดงามที่สุดเพราะว่าคณะนี้เป็นทางเสด็จผ่านเข้าโรงเรียนในงานประจำของโรงเรียน สีประจำคณะคือสีเขียวใบไม้


คณะพญาไท (Phyathai House)

มาจากนามของพระราชวังพญาไท เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 125,000 บาท สีประจำคณะคือสีชมพู


คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล

ต่อมาเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัดในการพักอาศัย จึงได้มีการสร้างตึกนักเรียนขึ้นใหม่อีก 4 คณะ ได้แก่คณะจงรัก คณะภักดี คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเปิดอาคารคณะใหม่ทั้ง 4 คณะ ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมคณะทั้งสี่นี้ โดยให้เหลือเพียง 2 คณะ เป็น คณะจงรักภักดี ที่มีสีประจำคณะ คือ สีเขียวอ่อน และคณะศักดิ์ศรีมงคล สีประจำคณะคือสีแดง


หอนาฬิกา

คณะข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนาม ‘คณะละครไทยเขษม’ ได้ร่วมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2472 เพื่อจัดหารายได้ก่อสร้างหอนาฬิกาอุทิศเป็นพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยหอนาฬิกานี้นำนาฬิกาเรือนใหญ่ที่เคยติดบนหอประชุมของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ผู้บังคับการในขณะนั้นได้ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ร่วมกันออกแบบหอนาฬิกาพร้อมระฆังรูปสี่เหลี่ยมมีลวดลายเป็นพิเศษแบบสุโขทัย


อาคารนวมภูมินทร์

อาคารนวมภูมินทร์ เป็นอาคารเอนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี 3 ชั้น ออกแบบโดยนิธิ สถาปิตานนท์ ศิษย์เก่าซึ่งตั้งใจสร้างอาคารใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าโดยรอบ ผสมผสานวัสดุแบบโบราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องทำงานผู้บังคับการ ห้อง Community Room ห้องพักครู และห้องเอนกประสงค์ ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 3 จัดเป็นห้องรับรองและห้องประชุม ชื่อนวมภูมินทร์นี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

 
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอาคารที่ล้วนแต่มีการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ อาทิ หอประวัติ หรือเดิมคือตึกพยาบาล แต่ต่อมาในสมัยผู้บังคับการ ศาตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นหอประวัติโรงเรียน คณะเด็กเล็ก สำหรับนักเรียนชั้นประถมที่แยกออกจากโรงเรียนเด็กโต ปัจจุบันมี 3 คณะ คือ คณะสนามจันทร์ สีเหลือง คณะนันทอุทยาน สีม่วง และคณะสราญรมย์ สีเทา ตึกเพชรรัตน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนและห้องทดลองทางเคมีของนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ห้องสมุดภะรตราชา คราวฉลองหนึ่งศตวรรตชาตกาลพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) คณะนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยผู้เป็นศิษย์ ได้พร้อมกันบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องสมุดนี้และขอขนานนามอาคารห้องสมุดเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่านผู้บังคับการ ตึกสุวัทนา ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนวิทยาศาสตร์ ตึกประชาธิปก ตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวโรกาสพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ใช้สำหรับการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ตึกวชิราวุธานุสรณ์ เป็นอาคารกีฬาในร่มเอนกประสงค์ สำหรับแบดมินตัน บาสเกตบอล รวมทั้งใช้เป็นที่ฉายภาพยนตร์สอบไล่ และจัดเลี้ยงรับรอง ตึกเวสสุกรรมสถิต เป็นตึก 3 ชั้นรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสร้างขึ้นทดแทนตึกเรียนวิชาหัตถศึกษา และ อาคารวชิราวุธ ๑๐๐ ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่วชิราวุธวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2553 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ลักษณะอาคารเป็นงานสถาปัตยกรรมไทย มี 19 ห้องเรียน มีพื้นที่ใช้งาน 3,000 ตารางเมตร มีความพร้อมที่จะใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย


แม้คณะของ Issara Life Blog จะเดิมชมแค่ภายนอกอาคาร ได้เห็นถึงการสร้างอาคารตามแนวคิดพุทธสถาน ผสานด้วยงานสถาปัตยกรรมตะวันตกกับศิลปกรรมไทยอันวิจิตร เกิดเป็นสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยิ่งใหญ่และงดงามเป็นที่สุดแล้ว เรายังได้รับรู้เรื่องราว ความประทับ ของความผูกพันธ์ สายเลือดวชิราวุธวิทยาลัยที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นอีกด้วย และก่อนกลับเราได้เห็นฝูงนกจำนวนมากอาศัยอยู่ภายในโรงเรียน และได้รับคำตอบว่า กิจกรรมหนึ่งที่นักเรียนวชิราวุธชอบมากคือ การดูนกซึ่งในโรงเรียนมีนกหลายชนิด โดยเฉพาะนกแก้วที่อยู่เป็นฝูง ในกรุงเทพฯ จะหาดูได้ก็ที่สนามหลังในโรงเรียนเท่านั้น

…………………………………………………………………………………………………..

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
- หนังสือ ๑๐๐ ปี ศิลปะ สถาปัตยกรรม วชิราวุธวิทยาลัย
- www.vajiravudh.ac.th