Guide

ต.เต่า สัตว์โลกแสนมหัศจรรย์

ทำความรู้จักพร้อมเรียนรู้เรื่องราวของ “เต่า” ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่าอย่างจริงจัง


กระดองหนาและแข็งเมื่อโตเต็มวัย ออกลูกเป็นไข่ เดินสี่ขา เคลื่อนที่ช้าขณะอยู่บนบก มีทั้งสายพันธุ์ บนบกและทะเล ลักษณะเด่นของสัตว์จำพวก “เต่า” นั่นเอง Issara Life ชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักพร้อมเรียนรู้เรื่องราวของ “เต่า” ซึ่งในวันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันเต่าโลก’ (World Turtle Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่าและช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล ที่ถูกทำร้ายนำมาช่วยเหลือจนอยู่ในสภาพปกติแล้วปล่อยกลับสู่ธรรมชาติและร่วมกันอนุรักษ์เต่าอย่างจริงจัง โดย องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรชื่อ American Tortoise Rescue ในรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนที่จะไปรับรู้เรื่องราวของเต่า เราควรมาทำความรู้จักกับประเภทของเต่ากันก่อน ซึ่งพอพูดถึงเต่าแล้วหลายๆคนก็คิดว่าพวกมันเป็นสัตว์ที่มีกระดองแข็งๆชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้หรือไม่ เต่านั้นก็จะจำแนกออกอีกเป็น 3 ประเภท คือ เต่าบก เต่าน้ำจืด และ เต่าทะเล ซึ่งเต่าแต่ละประเภทก็จะถูกแบ่งด้วยลักษณะร่างกายและถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน แต่ทุกคนจะแยกออกไหมว่า เต่าบก เต่าน้ำ และเต่าทะเล นั้นต่างกันอย่างไร

Giant Tortoises on Galapagos Islands. © Greenpeace / Daniel Beltrá

เต่าบก (Tortoise) นั้นจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนบก มีกระดอกที่นูนหนาเพื่อป้องกันตัว บริเวณเท้าจะมีเกล็ดหน้าและเล็บยาวเพื่อขุดดิน กินพืซเป็นอาหารแต่บางสายพันธุ์ก็จะกินเนื้อหรือแมลงอีกด้วย เต่าบกสามารถมีอายุขัยได้มากถึง 300 ปีและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเต่าทะเลมาก เต่าบกที่ตัวใหญ่ที่สุดคือเต่ากาลาปากอส

Pig Nosed Turtle. © Greenpeace / Natalie Behring

เต่าน้ำจืด หรือเต่าน้ำ (Terrapin) ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่และขึ้นมาอาบแดดในบางครั้ง จะมีกระดองค่อนข้างแบนกว่าเต่าบกและน้ำหนักเบา เพื่อลอยตัวเวลาอยู่ในน้ำเท้าไม่มีเกล็ดและมีพังผืดระหว่างนิ้วเท้าเพื่อใช้ในการว่ายน้ำ มักล่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆในน้ำกินเป็นอาหาร

Green Turtle in the Maldives. © Greenpeace / Paul Hilton

เต่าทะเล (Turtle) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ และขึ้นมาบนบกเมื่อวางไข่ มีกระดองค่อนข้างแบนและ น้ำหนักเบา เท้าทั้งสี่จะมีลักษณะแบนเป็นครีบเพื่อใช้ในการว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่ว กินพืชเป็นอาหารหลัก มีอายุขัยประมาณ 40 ปี ต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดคือเต่ามะเฟือง

ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าเต่าบก เต่าน้ำ และ เต่าทะเลต่างกันอย่างไร เมื่อเวลาที่พบเต่าจะได้แยกถูกว่าเต่าตัวนั้นคือเต่าบก เต่าน้ำ หรือ เต่าทะเล และต่อไปนี้เป็น 10 เรื่องราวของเต่า ที่เราอาจไม่รู้กัน

1. อุณหภูมิส่งผลต่อเพศ ไม่ว่าลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักจะเกิดมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย มันต่างก็ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิของบริเวณรัง หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดที่ส่งผลต่อการเพาะฟักไข่เต่า หรือ “pivotal temperature” (28 – 29 องศาเซลเซียส) เต่าที่เกิดมาจะเป็นเพศเมีย และถ้าต่ำกว่า ก็จะเป็น เพศผู้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้เต่าที่เกิดมาเป็นเพศเมียในอัตราส่วนที่มากกว่าเพศผู้ ยิ่งทำให้อัตราการเกิดของเต่ายิ่งน้อยลงไปด้วย

2. เต่าบก vs เต่าน้ำจืด vs เต่าทะเล ไม่ใช่เต่าทุกชนิดที่ว่ายน้ำได้ เต่าบกว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าปล่อยลงน้ำจะจม เนื่องจากกระดองเต่ามีน้ำหนักมาก ส่วนเต่าน้ำจืดว่ายน้ำได้ แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย และเต่าทะเลอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ จะขึ้นมาวางไข่บนบก

3. ทั่วโลกมีเต่าทะเลเพียง 7 ชนิด และมีเพียง 5 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน เต่ามะเฟือง ส่วนเต่าที่ไม่พบในไทย คือ เต่าหลังแบน และเต่าหญ้าแคมป์

4. เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง ชื่อแดนทิศอุทัย มาจากประเทศศิวิไลซ์ แต่เป็นเอเลี่ยนในประเทศไทย หากคุณพบเต่าที่มีหน้าตาแบบนี้โปรดจงรู้ไว้ว่ามันไม่ใช่เต่าในประเทศไทย แต่เป็นเต่าต่างถิ่น

5. อายุเต่าที่มากที่สุด เต่าทะเลและเต่าบกขนาดใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมาก เต่าสามารถมีอายุได้ถึง 150 ปีหรือมากกว่านั้น บางคนประมาณว่าเต่าตัวใหญ่อาจมีอายุยืน ราว 400 ถึง 500 ปี

6. ทุกครั้งที่คุณได้ยินเสียง raptor ในเรื่อง Jurassic Park นั่นหมายความว่าคุณกำลังฟังเสียงเต่าตอนกำลังมีเพศสัมพันธ์กันอยู่

7. ไม่ใช่เต่าทุกชนิดกินพืช บางชนิดก็กินเนื้อ บางครั้งกินมูลของสัตว์อื่น

8. เต่าทุกตัววางไข่บนบก ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหลายพันไมล์ เต่าก็จะกลับมาวางไข่ในที่ที่มันเกิด เพราะเต่ามีเข็มทิศในตัว ทำให้มันสามารถจำทางกลับบ้านได้

9 .เต่าไม่สามารถคลานออกจากกระดองได้ เพราะกระดองคือกระดูกที่ต่อเข้ากับกระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก และกระดูกหัวไหล่บางส่วน ทำให้กระดูกเหล่านี้ถูกยึดติดกับกระดอง ทั้งกระดองหลังและกระดองท้องของเต่า

10. เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด ยาวได้ถึง 2 เมตร หนักถึง 600 kg สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 1,000 เมตร

Jürgen Freund / WWF

แม้ว่าเต่าจะเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว แต่ในปัจจุบันเต่าบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการถูกคุกคามโดยมนุษย์โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่าตะนุ และเต่ามะเฟือง โดยภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรเต่าทะเลมีจำนวนลดลง อาทิ การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การทิ้งขยะลงทะเล การทำประมงโดยการลากอวน และอัตราการรอดของลูกเต่าในธรรมชาติมีน้อยมาก จึงยิ่งทำให้ประชากรเต่าลดน้อยลงด้วย


จึงถึงเวลาแล้วที่ทุก ๆ ฝ่ายควรให้ความร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพื่อให้เต่าทะเลคงอยู่สืบไปก่อนที่จะสายเกินไป โดยทุกคนสามารถช่วยกันอนุรักษ์เต่าได้ โดยการลดการใช้ถุงพลาสติก ทิ้งขยะพลาสติกให้ลงถัง ไม่ทิ้งลงสู่ชายหาด แม่น้ำ หรือทะเล ช่วยกันเก็บขยะที่อันตราย เช่น เศษแก้ว นำไปทิ้งในจุดที่เหมาะสม แนะนำคนรอบข้างให้ตระหนักว่าขยะที่ทิ้งลงทะเลนั้นทำร้ายสัตว์น้ำ สัตว์บก น้อยใหญ่ ไปมากขนาดไหน หากทุกคนร่วมด้วย ช่วยกันแล้ว รับรองได้เลยว่าโลกของเราจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

………………………………………………………………………………………………

ขอขอบคุณข้อมูล / อ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_6
https://www.greenpeace.org/thailand/story/6467/turtle/?fbclid=IwAR2zmO-ODDeSaoXshM12LBIeKIJa2crP07iZbz8an9MZfDn4ZO4l1D3zBW4
https://actionforclimate.deqp.go.th/news/2889/
https://www.wwf.org.uk/learn/fascinating-facts/marine-turtles
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/world-turtle-day/