Spotlight

WISHULADA: SOCIAL ACTIVIST ARTIST

เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่หลายคนรู้จักเธอจากผลงานที่นำเอาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์จนเป็นผลงานงานศิลปะที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ


ถ้าเทรนแฟชั่นในปัจจุบันมีการนำเอานวัตกรรมอัพไซเคิลมาเป็นกระบวนการผลิตและสร้างจุดขายไปพร้อมกัน บวกกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และใส่นวัตกรรม (Innovative) หรือไอเดียที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์ต่างออกไป และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่น การนำกระดาษ พลาสติกหรือ ผ้าใบเก่า มาผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยใช้วัสดุที่มาจากการอัพไซเคิล แต่มันจะมีคุณค่ามากขึ้นเมื่อผลงานศิลปะนั้น เกิดขึ้นจากวัสดุที่หลายตนเรียกว่า “ขยะ” แต่กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และโลกของเรา ISSARA LIFE ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่หลายคนรู้จักเธอจากผลงานที่นำเอาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์จนเป็นผลงานงานศิลปะที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ และเธอยังมองว่าตัวเองเป็น Social Activist Artist ที่รังสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม เรามาติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจของเธอจากคอลัมน์ ISSAR SPOTLIGHT กันคะ

ตัวตนของ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เป็นอย่างไรและใครคือคนที่มีอิทธิพลต่อการทำงานศิลปะของคุณ

ชื่อเอ๋ – วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เป็น Social Activist Artist หมวกอีกใบคือผู้ก่อตั้งบริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมค่ะ นิยามตัวตนของตัวว่าเป็น Artist เป็นคนที่สร้างสรรค์ผลลงานศิลปะ แต่สนใจในประเด็นของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี ทุกๆอย่างที่มันเป็นปัญหาก็จะดีขึ้นตาม และอีกแง่คือต้องการที่จะปลุกความเป็นศิลปินของเรา สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะรู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ส้รางการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เพราะเมื่อมีคนสนใจมาดูงานศิลปะแล้วเกิดแรงบันดาลใจ หรือเปลี่ยนแนวความคิดของเค้าได้ มันคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายใน ซึ่งถ้าความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมเราเปลี่ยน มันจะเป็นการเปลี่ยนที่สร้างอิมแพคมหาศาล

สำหรับแรงบันดาลใจในการทำผลงานศิลปะนี้เกิดจากการได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ มีการคัดแยกวัสดุเหลือใช้เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งของนั้นๆ ซึ่งตอนแรกก็ไม่ใช่เพื่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่เห็นคุณค่าว่าวัสดุเหลือใช้เหล่านั้นสามารถเอามาประดิษฐ์ใช้งานอย่างอื่นได้ เช่น ทำเป็นเก้าอี้ เป็นที่ใส่แก้ว ซึ่งไอเดียมันก็เริ่มจากตรงนี้ เพราะเห็นว่ามีความสนุกในการประดิษฐ์และได้ซึมซับมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นผลงานศิลปะที่เห็นอยู่นี้

จุดเริ่มของการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของ WISHULADA และผลงานที่สร้างชื่อ

ตอนเด็กๆ เอ๋ชอบวาดรูป ชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ที่เหนือจริง ชอบจินตนาการไปถึงเรื่องราวสัตว์ประหลาดต่างๆ และเมื่อโตขึ้นรู้ว่าตัวเองชอบอะไร จึงเลือกเรียนที่คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาทัศน์ศิลป์แต่ก็เลือกเรียนสาขาจิตรกรรมด้วย จากความชอบตอนเด็กงานต่างๆ ที่ออกมาจึงเกิดเป็นผลงาน ที่เป็นสัตว์ประหลาดตามความคิดของเรา และก็มีวันหนึ่งที่เราเบื่อกับการหยิบสีมาเพ้นท์ อยากที่จะเอาของรอบตัวมาลองทำงานบ้าง มองไปรอบตัวก็เจอฝาขวดน้ำพลาสติก เห็นช้อมพลาสติกต่างๆ มันจึงเกิดไอเดียว่าสิ่งเหล่านี้มันเหมือนกับชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ประหลาด ก็เลยเริ่มประดิษฐ์เป็นชิ้นงานขึ้นมา ชิ้นงานที่เคยอยู่แต่ในกระดาษก็ค่อยๆหลุดออกมาเป็นนูนต่ำ นูนสูง หลุดเป็นงานสามมิติขึ้นมา ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเป็นผลงานที่ไม่ค่อยแข็งแรงมาก เพราะทั้งหมดเราเอาของที่อยู่ในบ้านมาทำ พอทำไปสักพักจะต้องทำผลงาน Senior Project จบ อาจารย์เลยแนะนำให้ไปหาข้อมูลจากวัสดุเหลือใช้ดู เราก็ได้ไปศึกษาและก็พบว่าคุณค่าของวัสดุเหลือใช้สุดท้ายแล้วมันจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง แต่ ที่มาที่ไปของวัสดุเหลือใช้ต่างหาก ที่จะสามารถบอกเราได้ว่าว่ามันมาจากไหน เพราะวัสดุเหลือใช้แต่ละประเภทสามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมของคนในย่านนั้น ทุกครั้งที่เราเดินทางไปเจอขยะ เราสามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าคนแถวนั้นเค้าชอบอะไรไม่ชอบอะไร ชอบบริโภคอะไร บางคนทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง บางคนชอบทิ้งขยะไว้ตามซอกตามมุมต่างๆ เราได้เห็นคนผ่านการทิ้งขยะของเค้า มันเลยกลายเป็นว่าขยะที่เราเห็นมันกลายเป็นมากกว่าวัสดุ จากการที่เราพบเจอมา ผนวกกับ Passion ที่ว่าอยากจะเอาศิลปะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะคนไทยเอง หรือคนส่วนมากพอเราบอกว่าเราจะเป็น Artist คนจะเริ่มสงสัยว่า Artist หากินอย่างไร มีการใช้ชีวิตอย่างไร เราเลยคิดว่าอาชีพนี้น่าถูกยกขึ้นมาพูด เลยอยากเอาสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่อยากจะบอกกับสังคม รวมกับ Passion ต่างๆที่เรามีให้กลายเป็นศิลปินอาชีพขึ้นมา ที่พูดถึงสิ่งแวดล้อม

ระหว่างสัมภาษณ์ Issara Life เกิดสงสัยว่าเด็กหญิงวิชชุลดาตอนเด็กๆ ทำไมเธอถึงชอบสัตว์ประหลาด ผิดวิสัยของเด็กผู้หญิงที่อาจจะชอบเป็นการ์ตูนสายหวานๆ ก็ได้รับคำตอบว่า “ดูแล้วมันจินตนาการได้ เพราะสัตว์ประหลาดจะมีรูปร่างที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก มันดูเท่ห์ ดูสนุก ตอนเด็กๆ จะชอบเล่นเกมส์มาก จึงฝากถึงว่า กิจกรรมยามว่างของเราที่เราทำตอนเด็กๆ ว่ามันมีประโยชน์มากๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนให้ลูกสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เลย อย่างเช่น เกมส์ หรือกิจกรรมบางอย่างที่เราดูแล้วอาจไม่มีความจำเป็นหรือมีประโยชน์อะไรเลย จริงๆแล้วมันสามารถทำให้เด็กน้อยในตอนนั้นเกิดอินสไปร์เรชั่น ได้ตั้งแต่ตอนนั้น ต่อยอดมาได้ยาวมากๆค่ะ

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับ WISHULADA

เอ๋ทำงานศิลปะควบคู่กับงานประจำมาก่อน เริ่มแรกก็ทำกับ FLY NOW III และการนำผลงานไปโชว์เคสที่ Bangkok Design Week ประมาณปี 2018 แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็มีองค์กรต่างๆ เข้ามาติดต่อ ซึ่งมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเอง บางงานเป็นงานที่ไม่เคยทำเลย แต่ว่าลูกค้าอาจจะเห็นบางอย่างในตัวเรา แล้วเค้ารู้สึกว่าเราน่าจะทำมันได้ บางที่มีโจทย์มาแค่ว่า เค้าบอกมีพื้นที่ตรงนี้แหละช่วยทำเป็นงานศิลปะอะไรก็ได้ให้หน่อย นี่จึงเป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอะไรก็ได้ คือเราต้องไปคิดอะไรอีกเยอะแยะมหาศาล เราต้องไปดูว่าองค์กรนั้นมีแนวคิดอย่างไร ฟังบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร นโยบายบริษัทเป็นอย่างไร สเต็ปถัดไปขององค์กรนั้นๆ จะทำอะไร หลังจากนั้นเราค่อยกลั่นกรองออกมาเป็นงานศิลปะ รับงานเกือบทุกงานที่ติดต่อเข้ามา เพราะเราสามารถยืดหยุ่นให้กับงานศิลปะของเราได้หลากหลาย และสำหรับจุดเริ่มต้นของ WISHULADA คือการทำ Art Installation เป็นงานศิลปะติดตั้งตามที่ต่างๆ ซึ่งเรายืดหยุ่นให้มีหลายๆอย่างได้ นอกจากนี้เรายังมีทำในส่วนของ Product ทำ Work shop ทำงาน Art ในกลุ่มแฟชั่นต่างๆ ลองทำขึ้นมาหมด เพื่อพยายามแก้ปัญหาให้ลูกค้า ให้วัสดุเหลือใช้มันไปต่อได้มากที่สุด จุดยืนของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ต้องการแก้ปัญหาขยะของแต่ละองค์กร แต่ละพื้นที่ แต่กระบวนการของมัน Process ต่างๆ ที่เราสามารถยืดหยุ่นได้ให้มันเหมาะสมกับพื้นที่นั่นๆ และผลงานที่ทำให้คนรู้จัก WISHULADA มากขึ้นก็คือผลงานที่อยู่ ICONSIAM ชั้น 6 จำนวน 5 ชิ้นงานที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ แล้วนำมาเป็น Chandelier ห้อยลงมาจากเพดาน ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นก็คือ ตอนนั้นเราไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ และก็ติดตั้งห้อยลงมาจากบนหลังคา มันไม่ใช่มีแค่เรื่องความสวยงามอย่างเดียวแล้ว แต่มันมีเรื่องความปลอดภัย การประสานงานต่างๆ กับคนที่ไม่ได้อยู่ในสายศิลปะเลย มันทำให้เรารู้สึกว่า เราโตขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่ง และจากงานที่ ICONSIAM นี้นอกจากจะช่วยสร้างชื่อให้กับเราแล้ว ยังได้ประสบการณ์ในการทำงานเยอะแยะมากมาย 


วิธีการสร้างเรื่องราวหรือนำแนวคิดใส่ในผลงาน ยึดหลักอะไร และทำอย่างไรให้แนวคิดนั้นๆ ง่ายต่อการเข้าถึงใจผู้คน

Concept การสร้างสรรค์ผลงานยังเหมือนเดิม คือ การอัพไซเคิล (Upcycle) ที่ต่างจากรีไซเคิล(Recycle) เพราะรีไซเคิลจะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้เข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้นั่นให้เป็นของใหม่ แต่อัพไซเคิลคือก่อนที่จะนำไปรีไซเคิลเอามาทำอะไรสักอย่างให้มันมีคุณค่า มีมูลค่า ซึ่งคุณค่าของ WISHULADA ที่เกิดขึ้นคือ 3 P. คือ 1. การตอบโจทย์ของ People คือสังคม เรามีการให้ชุมชนในประเทศไทยได้มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องแยกย้ายถิ่นฐาน สามารถรวมกลุ่มรวมตัวกันได้ทำงานร่วมกันทั้งครอบครัว 2. Planet คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทุกงานที่เราทำ เราเก็บข้อมูลต่างๆ Data ของสิ่งแวดล้อมไว้ทั้งหมด เราใช้วัสดุเหลือใช้ประเภทใดไปบ้าง เราคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ถ้าเราเอาวัสดุเหล่านั้นมาสร้างเป็นงานศิลปะจะช่วยชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ 3. Profit คือการทำเป็น Social Enterprise ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ นี่เรียกว่าความยั่งยืน พยายามบาลานซ์ระหว่างความเป็นอาร์ตกับการทำธุรกิจให้มันไปด้วยกันได้ ศิลปินไม่จำเป็นต้องทำงานคนเดียว ยิ่งถ้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เรารู้สึกว่าอิมแพคที่จะเกิดขึ้นมันอยู่ที่กระบวนการที่จะเกิดขึ้น ชุมชนต้องเข้ามาร่วมกับเรา ให้เค้ารู้ว่าวัสดุที่อยู่รอบตัวเค้าต่อยอดเค้าได้ เอาไปทำที่บ้านได้

เมื่อถามถึงวัสดุที่เลือกใช้ในการนำมาทำเป็นผลงานศิลปะได้มาอย่างไร และมีการเลือกใช้อย่างไรให้เหมาะกับงาน วิชชุลดา ก็ตอบกับเราว่า วัสดุที่เราเลือกใช้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.Pre – Consumption คือวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเศษผ้า เศษไม้ เศษเหล็กต่างๆ ที่เหลือเศษมา เก็บเศษเหล่านั้นแล้วเอามาสร้างสรรค์ต่อได้ หรือผ้าต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น สต๊อกผ้าตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้มันมีอายุของมัน ถ้าเราเก็บไว้ในโรงงานทิ้งปล่อยไว้ มันก็จะค่อยๆเสื่อมคุณภาพไปเรื่อยๆ เราสามารถเก็บมาอัพไซเคิลให้เป็นสินค้าตัวใหม่ได้

2. Post – Consumption คือวัสดุเหลือใช้หลังจากการบริโภค เช่น ขวดน้ำ กล่องอาหาร ช้อนส้อม เราล้างทำความสะอาดคัดแยกอย่างถูกวิธี ก็เอามาอัพไซเคิลใหม่ให้เป็นของใช้ชิ้นใหม่ได้ ผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ แยกสีวัสดุ แยกไซน์ของวัสดุ แล้วนำมาจัด คอมโพสต์ใหม่ ก็ออกมาเป็นชิ้นงานขึ้นมาใหม่ได้


WISHULADA มีวัสดุอยู่ในสต๊อกประมาณ 32 ประเภท เก็บรวบรวมไว้เรื่อยๆ ต่อให้มีโปรเจคหรือไม่มีโปรเจคก็เก็บไว้ มีการคัดแยก มีการรับซื้อจากคนในชุมชน ทำให้มีวัสดุที่หลากหลาย และถ้าต้องนำมาสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะ ก็จะมาดูว่าในพื้นที่นั้นๆ ออกแบบให้มันเข้ากับพื้นที่นั้นๆ เพื่อตอบโจทย์กับพื้นที่นั้นๆ หรืออีกทางคือการเอาขยะจากในองค์กร มาทำก็ได้เช่นเดียวกัน บางครั้งก็มีเปิดรับบริจาคสำหรับขยะที่ไม่สามารถนำไป รีไซเคิลต่อได้ หรือเป็นขยะกำพร้า อาทิเช่น ถุงอาหาร ถุงขนม ถุงน้ำยาล้างจาน ถุงน้ำยาปรับผ้า ที่ล้างทำความสะอาดแล้ว อันนี้ก็เอามาต่อยอดได้ หรือฝาพลาสติกต่างๆ ฝาอะลูมิเนียม ฝาเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ก็เปิดรับ หรือของอื่นๆ เช่น ตุ้มหูที่มันหายไปแล้วข้างหนึ่ง สร้อยที่ขาดแล้ว เครื่องประดับต่างๆที่ชำรุดซ่อมไม่ได้ ก็รับหมด เราก็จะเอามาแยกเป็นวัสดุชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปต่อยอดต่อ

นอกจากนี้ในการเลือกวัสดุเรายังคำนึงถึงสถานที่ติดตั้งว่าติดตั้งที่ไหน ติดตั้งในอาคารหรือนอกอาคาร ถ้าเป็นด้านในอาคารก็มีวัสดุให้เลือกเยอะเพราะไม่โดนแสง โดนลม โดนฝน แต่ถ้าต้องไปอยู่ภายนอกอาคารก็ต้องเลือกวัสดุเหลือใช้ที่ตอบโจทย์สถานที่นั่นๆ โดนแดด โดนฝน ติดตั้งนานแล้วสีจะไม่ซีด

เทรนด์ในวงการศิลปะที่กำลังสนใจ มีอะไรบ้าง และแนวทางใหม่ๆ ที่เราจะได้เห็นจาก WISHULADA

มองว่าปัจจุบันเทรนมุ่งเข้าสู่เรื่องสิ่งแวดล้อม ในสเต็ปถัดไปเรื่องของสังคมก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ประมาณอีก 3 – 4 ปีข้างหน้านี้แน่นอน ซึ่ง WISHULADA ก่อนหน้านี้เราทำคนเดียวด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน จนเราได้จดทะเบียนขึ้นตรงกับ สวส. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม) ว่าเป็น Social Enterprise โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องบาลานซ์ ให้สามารถขายสินค้าและบริการของคุณได้ โดยที่ห้ามขาดทุน คือคุณต้องอยู่ให้ได้เพราะคุณไม่ใช่มูลนิธิ ที่รับเงินบริจาคอย่างเดียว แต่ Social Enterprise ต้องอยู่ให้ได้ อยู่ให้รอดพร้อมแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้ โดยที่ สวส.จะตรวจสอบหมดทุกอย่าง ทั้งพื้นที่ความเป็นอยู่ของเรา เรามีการกระจายรายได้ไปสู่ใครบ้าง สัดส่วนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีเป็นอย่างไร คุณภาพของชีวิตในสังคมดีขึ้นอย่งไร ซึ่งต้องเก็บข้อมูลตรงนี้ไว้ทั้งหมด ปัจจุบันเรามีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนโดยค่อยๆ ขยัยขยายไป ตอนนี้ร่วมกับ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ส่วนนี้ก็จะเป็นงาน Art Installation ชิ้นใหญ่ๆ ถ้าเห็นชิ้นงานใหญ่ก็จะมาจากนนทบุรี แต่ถ้าวัสดุที่เป็นอะไหล่ชิ้นเล็กๆ ก็มาจาก ต.ไร่พัฒนา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ถ้าเป็นงานกระเป๋า งานตัดเย็บ ก็มาจาก จ.สมุทรสาคร มาจากอ้อมน้อย กรุงเทพ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากแรงงานของคนในพื้นที่ทั้งหมด และในขณะเดียวกันชุมชนไหนที่ยังไม่มีความพร้อมเราก็ยินดีที่จะลงไปช่วย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าทำอย่างไรในการคัดแยกขยะต่างๆ ตั้งแต่ต้น ถัดมาก็ทำอย่างไรถึงจะเอาวัสดุเหล่านั้น มาสร้างสรรค์ศิลปะให้ได้ง่ายๆ เราอยากให้ทุกคนมองว่า เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ค้นคว้าหาข้อมูลได้ อยากให้ทุกคนมองว่าศิลปะแผงตัวอยู่ได้ในทุกๆพื้นที่ จะสังเกตุได้ว่า เก้าอี้ที่เรานั่ง แก้วน้ำที่เราดื่ม เบื้องหลังของมันคือการออกแบบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าทุกคนเข้าใจในงานออกแบบหรืองานความคิดสร้างสรรค์ หรืองานทางศิลปะ เค้าจะคิดตั้งแต่ต้นทางว่าจะออกแบบอะไรที่ทำให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุดให้ได้ ออกแบบอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด การแก้ปัญหาที่ต้นทางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าแบรนด์ WISHULADA จะเป็นคนจัดการที่ปลายทาง แต่กระบวนการคิดต่างๆ ที่เราร่วมทำกับชุมชน คือเราคิดตั้งแต่ต้นทาง ให้เค้าภูมิใจในวิชาชีพของเค้า ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินอย่างเค้าก็ได้ คุณทำอะไรอยู่ ถนัดอะไรอยู่ คุณทำสิ่งนั้น แต่ต้องคิดถึงสังคม คิดถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ โลกมันดีขึ้นแน่นอน

คิดอย่างไรกับคำว่าขยะเปลี่ยนโลก... แล้วเราจะได้เห็นวัสดุที่มาจากขยะอะไรบ้างในอนาคต

สำหรับ WISHULADA มันคงมีหลากหลายมากๆ ตอนนี้เราอยากเอาเรื่องพลังงานเข้ามาร่วมในงานต่างๆ เราอยากมีไฟ LED เข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันก็มีบ้างแล้ว แต่สเต็ปถัดไปคือไฟหรือแสงที่นำมาใช้ อาจจะมาจากโซล่าเซลล์ หรือถ้ามีผลงานที่หมุนได้ อาจจะใช้พลังงานลมมาเกี่ยวข้อง

มาถึงช่วงท้าย Issara Life เลยถามไปว่าวางแผนเกี่ยวกับอาชีพของคุณวิชชุลดาไว้อย่างไร และอยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังมอง WISHULADA เป็นแบบอย่างบ้าง

ขอตอบในเชิงศิลปินก่อน มองว่าอยากเข้าไปในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วไปบอกกับน้องๆ ที่อยากเป็นศิลปินว่าให้ทำเลย ลงมือทำมันไปเลย ทำให้มาก อยากบอกกับผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ว่าปัจจุบัน

นี้ศิลปินมันมีทางเยอะมาก สนุกมาก อยากให้ตัวเองได้ทำตามที่คิด ที่ฝัน แล้วก็ชอบ อันนี้คือสิ่งที่เราอยากบอกกับทุกคน อยากสร้างแรงบันดาลใจให้เขา คนธรรมดา คนตัวเล็ก ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

ถ้าเป็นในเชิงธุรกิจก็อยากขยับขยายไม่ใช่ให้ธุรกิจใหญ่โตขึ้น แต่เป็นการสร้างให้อิมแพคมันกว้างขึ้นมีชุมชนเข้าร่วมมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาของสังคม ของสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงคนที่ดูเราเป็นตัวอย่างว่า ลงมือทำเลย มันมีอุปสรรคแน่นอน สำคัญคือล้มได้ก็ลุกขึ้นมาได้ แล้วมันก็จะล้มอีกเรื่อยๆ สำคัญคือเราต้องลุกให้ไว อย่าคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนคนโน้นคนนี้ เพราะคุณอาจจะเห็นแค่ด้านเดียวของเค้าก็ได้ เห็นแค่ด้านเดียวแล้วตัดสินว่าเค้าประสบความสำเร็จมากๆ แล้ว ชีวิตเค้าดีมากๆแล้ว พอเราไปคิดแบบนั้น มันจะทำให้เรากดดันตัวเอง

อย่าไปมองความสำเร็จของคนอื่น ให้ดูเค้าเป็นเพียงแบบอย่างเป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ว่าต้องสำเร็จแบบเค้า ดูศักยภาพของตัวเอาเอง เราสำเร็จในแบบของเราได้ เราเป็นในแบบของเราได้

โอกาสที่เข้ามาในชีวิตของแต่ละคน มันไม่ได้มาบ่อยๆ ที่ทุกครั้งที่โอกาสเข้ามาคุณต้องจับโอกาสนั้นไว้ ทำให้เต็มที่ และทำให้สุดแล้วโอกาสมันจะมาเรื่อยๆ แต่ก่อนที่โอกาสมันจะมาเรื่อยๆ ต้องเตรียมพร้อมกับโอกาส พัฒนาตัวเอง เตรียมความพร้อมของตัวเองให้ดี


สำหรับสถานที่ที่ ISSARA LIFE มาสัมภาษณ์คุณวิชชุลดาในวันนี้ เธอเชิญเรามาชมผลงานที่ VOVLO STUDIO BANGKOK กับผลงานที่ชื่อว่า Sustainable Mapแผนที่ของความยั่งยืน โดยตีความไปว่า VOLVO เป็นผู้ผลิตรถยนต์ เลยนึกถึงว่าถ้าเรามีรถยนต์ 1 คัน เราจะขับไปที่ไหนบ้างที่อยู่ใกล้ VOVLO แห่งนี้ ซึ่งในแผนที่นี้มีทั้งสถานที่ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร โรงแรม ใครที่มาชมผลงานศิลปะที่นี่ก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเล็กๆ ที่มีอยู่ในผลงานชิ้นนี้ เพื่อท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆ ที่มีอยู่ในแผนที่ชิ้นนี้ได้เลย

“เราไม่อยากให้ผลงานของเราวางตั้งโชว์เฉยๆ อยากให้ทุกคนที่มาชมงานได้มีส่วนร่วมกับผลงานโดยการสแกนคิวอาร์โค้ด ได้ไปโน้นไปนี่ตามที่เราแนะนำ ก็เชิญชวนทุกคนมาชมได้ โดยเราจะแบ่งเป็นแถบสีเอาไว้ เช่น สีเหลืองก็จะเป็นวัดวาอารามต่างๆ สีเขียวก็จะเป็นร้านอาหาร ซึ่งวัสดุทุกชิ้นที่นำมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ก็นำมาจากวัสดุเหลือใช้ทุกชิ้น”