Spotlight

แพรี่พาย กับบทบาทใหม่ที่ภูมิใจกับคำว่า “ผู้เชื่อมชุมชน”

พูดคุยกับ อมตา จิตตะเสนีย์ หรือ “แพรี่พาย” ผู้สร้างตำนานในวงการ Beauty เมื่อครั้งสวมบทบาทเป็น Makeup Artist และ Beauty Blogger ที่มีชื่อโด่งดังระดับโลก สู่ “แพร” ผู้รักและหลงใหลในธรรมชาติ


เมื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวสำหรับเราแล้ว การหันมาให้ความสนใจและทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบตัวเราว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน Issara Life Blog จะพาไปพูดคุยกับ อมตา จิตตะเสนีย์ หรือ “แพรี่พาย” ผู้สร้างตำนานในวงการ Beauty เมื่อครั้งสวมบทบาทเป็น Makeup Artist และ Beauty Blogger ที่มีชื่อโด่งดังระดับโลก แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยอยู่ในเมืองที่แสนศิวิไลซ์ ใช้ชีวิตสุขสบาย สู่ “แพร” ผู้รักและหลงใหลในธรรมชาติ หันมาให้ความสนใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผ้าไทยในจังหวัดต่างๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาธรรมชาติในป่า เกษตรอินทรีย์ นำสีจากธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นการทดลองเครื่องสำอางและย้อมสีผ้าจากวัตถุดิบธรรมชาติ แล้วยังต่อยอดไปถึงการเนรมิตดาดฟ้าบ้าน ทำการปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด ปลุกกระแสให้คนเมืองหันมาปลูกผักกินเองที่ปลอดสารพิษและได้ประโยชน์มากมาย

“แพรได้เจอการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เส้นทางสู่แสงสว่างแห่งธรรมชาติ เมื่อได้มีโอกาสปรับตัวกับธรรมชาติบำบัด เข้าป่า ไปคลุกคลีอยู่กับชุมชนที่มีการทำเกษตรอินทรีย์ดูแลพื้นที่ป่าและใช้หลักพึ่งพาอาศัยกัน ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไปเรียนรู้ป่าชุมชนในทุกๆ ฤดู ที่ทำการเกษตรหลายแบบทั้งพื้นที่ราบ พื้นที่บนดอย ได้กลับมา Re-connect กับธรรมชาติ เราก็ได้มีโอกาสกลับมา Re-connect กับตัวเอง 30 ปีที่เราอยู่แต่ในตัวเมือง เราถูกตัดขาดจากธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ หลายๆ อย่างที่เราโตมามันสวยด้วยภาพภายนอก ทั้งโฆษณา ทั้งแอดหลายๆอย่าง มันฉาบฉวย แต่พอเราได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติ มาอยู่กับความเป็นจริง ดึงสติกลับมา มันเป็นเหมือนช่วงเวลาให้เราได้ผ่อนคลาย มันมีความสุขมาจากข้างในจริงๆ”


“แพรได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ไป จ.น่าน ซึ่งเวลาที่เรานึกถึงน่าน เราก็จะนึกถึงภูเขา ธรรมชาติสวยๆ ต้นไม้เยอะๆ แต่จริงๆแล้ว ภูเขาหลายๆที่ กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปหมดแล้ว โดนตัด โดนถางให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรของนายทุนใหญ่ที่เข้ามาบุกรุก ตอนที่ได้เห็นก็ร้องไห้เลยมันเป็นความรู้สึกที่หดหู่มาก เราไม่รู้เลยว่าหลายอย่างที่เรากิน ต้นน้ำมันคืออะไร ที่มาของอาหาร สิ่งของที่เราใช้ที่มาของมันคืออะไรเลยย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วหน้าที่ของเราคืออะไร คุณค่าของชีวิตเราคืออะไร อย่างเมื่อก่อนแต่งหน้าก็สนุก ได้ค้นพบตัวเองว่าเราชอบ การแต่งตัวฉันเป็นสไตล์แบบนี้ มันก็คือ Passion ของเรา ซึ่งมันก็จะเป็นเรื่องของเราเองตลอด แต่พอได้ไปติดตามชุมชน ได้เรียนรู้ จึงคิดได้ว่า การเกิดมาของเรามันไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่เพื่อคนอื่นไปพร้อมๆ กัน และจากที่นี่เรารู้จักการพึ่งพาอาศัยกันตามหลักของระบบนิเวศในป่า เราจึงอยากจะเป็นฟันเฟืองเป็นส่วนขับเคลื่อนในระบบนิเวศตรงนั้น จึงทำให้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แพรเปลี่ยนโซเชียลของแพรให้เป็นบทเรียนออนไลน์ จากเมื่อก่อนที่ลงสอนแต่งหน้า ตอนหลังๆ ก็มา

เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เข้าป่าแต่ละครั้งก็จะมีเรื่องราว เกร็ดความรู้ว่าแพรเจออะไรบ้าง เช่น น้ำผึ้งเดือน 5 มันคืออะไร วิธีการขึ้นผึ้งมันมีวิธีการอย่างไร ก็จะเอาเรื่องราวที่ไปพบเจอมาถอดเป็นบทเรียน เพื่อให้เกิดเป็นความรู้ หรือข้อมูลให้คนที่ติดตามเราได้รับรู้และนำไปใช้ได้ต่อไป”


เมื่อถามว่าแล้วจุดหักเห หรือ จุดเชื่อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ “แพร” ที่หันมาสนใจเรื่องราวต่างๆ ก็ได้เล่าให้เราฟังต่อว่า

 “ จุดเชื่อมต่อของมันอยู่ตรง “ผ้าไทย” เพราะผ้าไทยเป็นอะไรที่ใกล้กับตัวแพรด้วย เมื่อก่อนเราสนใจเรื่องการแต่งตัว แล้วผ้าไทยคือหนึ่งในปัจจัย 4 ผ้าท้องถิ่น ผ้าพื้นเมือง ในแต่ละจังหวัด ในแต่ละภาค ก็มีความแตกต่างของวัฒนธรรม วิธีการทอ เทคนิค และวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน เราก็ได้เรียนรู้ในสีของธรรมชาติไปด้วย ตื่นเต้นว่าเปลือกไม้ชนิดนี้จะออกมาได้สีอะไร ดินนี้ให้สีนี้หรอ ได้เห็นความมหัศจรรย์ของสีจากธรรมชาติที่สามารถกลายเป็น rainbow ได้ ทุกชุมชนเลือกที่จะอยู่เคียงข้างกับธรรมชาติ ดูแลรักษา และนำของออกจากป่ามาใช้เท่าที่จำเป็นและเกิดประโยชน์มากที่สุด แพรจึงได้เปลี่ยนโซเชียลมีเดียของแพรเอง ให้กลายเป็นตัวเชื่อมชุมชน และแพรถือว่าแพรเป็นผู้เชื่อมชุมชน มันเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เลยมั่นใจว่าหน้าที่ของเราคืออย่างนี้ ความถนัดของเราคือแบบนี้ หน้าที่ของเราบนโลกคงจะเป็นประมาณนี้ ”


แพรต้องย้ายมาอยู่บ้านใหม่กลางใจเมือง และเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิดที่ต้องล็อกดาวน์ตัวเอง อยู่ในบ้าน จึงได้ทบทวนและเกิดคำถามกับตัวเองว่า มันจะเป็นไปได้มั้ยถ้าเราสามารถเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวเราได้ นั่นก็คือโจทย์และคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้

“อย่างเรื่องราวของสวนดาดฟ้า แพรเรียกมันว่า “ห้องทดลอง” ตึกที่แพรอยู่เป็นคอนโดของที่บ้านสูง 8 ชั้น อยู่กันทั้งครอบครัว ออกแบบเอง ลองปลูกพืชเป็นร้อยๆ ชนิดว่าอะไรจะขึ้นบ้าง อะไรปลูกได้ อะไรปลูกไม่ได้ จนครบ 1 ปีแพรก็สามารถปลูกพืชได้ครบ 3 ฤดู แล้วก็ปลูกเยอะมาก ตั้งแต่ผักพื้นบ้าน ไปจนถึงพืชให้สี เช่น ปลูกครามนำมาย้อมผ้า ตอนนี้มีปลูกข้าว ปลูกโน้นนี่นั่นเต็มไปหมด เราได้เรียนรู้ระยะการเติบโตของพืช เหมาะกับการปลูกบนดาดฟ้ามั้ย จริงๆ กรุงเทพเหมาะกับการปลูกพืชบนดาดฟ้าเป็น Green City เป็น Green Community ก็ได้ เป็น Urban Framing บน Rooftop ก็ได้ อย่างที่แพรทำสวนผักบนดาดฟ้า แพรอยากให้เป็น

โมเดลที่ในอนาคตโครงการที่ทำคอนโดใหญ่ๆ นำเอาไปใช้ได้ โดยคุณสามารถทำ circular ได้ เก็บเศษอาหารมาทำปุ๋ย ทำการเกษตรที่มันสามารถนำผลผลิตมาให้ลูกบ้านได้ หรือไม่ก็พื้นที่สาธารณะใหม่ๆ บนห้างก็ได้ พอเราเริ่มทำตรงนี้ เราก็เหมือนได้สร้างเครือข่าย ทำให้เรารู้เลยว่ามีเกษตรกรในเมืองเยอะมาก เพราะเราได้เข้าไปในเครือข่ายของพวก Bangkok Farming Rooftop แบบนี้เยอะ หลายๆบ้านปลูก แล้วก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ด้วย”


ก่อนจบการสนทนาแพรได้ฝากข้อคิดไว้สำหรับให้ทุกคนให้คิดและตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอยู่ว่า “ มีประโยคหนึ่งที่แพรได้เจอในงาน Bangkok Design Week เค้าพูดว่า “เรากินอาหารจากผู้ผลิตที่ไม่สนเรื่องสุขภาพ และเราก็ไปรักษาตัวกับคนที่ไม่รู้เรื่องอาหาร” ซึ่งมันถูกต้องเลย คืออยากให้ใครก็ตามที่เห็นข้อความนี้ ให้ตั้งคำถามสิ่งที่เรากำลังกินอยู่ในทุกๆวันหรือทุกๆมื้อ ที่มามันคือที่ไหน มันมาจากอะไร ถ้าเราไม่เริ่มมีสติ มองปัญหาจริงๆ ของตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ หรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จักดูแลตัวเอง คอยแต่จะให้คนอื่นมาดูแลเราหรอ แล้วถ้าคนอื่นไม่มาดูแลเรา เราก็จะไปเรียกร้องสิทธิหรอ ออกไปประท้วง หลายๆอย่างหรอ สุดท้ายแค่อยากให้ทุกคนเริ่มดูแลตัวเราเองก่อน ทำเป็น กินเป็น ให้ได้ก่อน ก่อนไปเรียกร้องให้คนอื่นมาดูแลเรา”