Spotlight

THE MASTER OF GARAGE LIFE

‘คุณกร ทองทั่ว’ จาก BROWNHOUSES Company Limited สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจ็คต์ ISSARA RESIDENCE RAMA9


เพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องในการนำเสนอโปรเจ็คต์ระดับอลังการงานสร้างอย่าง ‘ISSARA RESIDENCE RAMA9’ เราจึงขอเปิดห้องรับแขกเพื่อต้อนรับ ‘คุณกร ทองทั่ว’ จาก BROWNHOUSES Company Limited สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจ็คต์นี้ เพื่อสำรวจตรวจสอบถึงไอเดียเบื้องหน้า-ความเป็นมาเบื้องหลังของเขา และแนวความคิดที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนถ่ายสู่งานออกแบบ Garage ของบ้านหลังใหญ่ที่สุดในโครงการ แนวความคิดของเขาจะเป็นอย่างไร เชิญติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ของเราในฉบับนี้


แรงบันดาลใจของการอยากเป็นสถาปนิก

คุณกร: ผมเกิดในครอบครัว 3 พี่น้องผู้ชาย 3 คน และเป็นคนที่อยากเรียนศิลปะ แต่ก็ยังไม่รู้นะว่าสถาปนิกคืออะไร แค่รู้สึกว่า อยากเรียนศิลปะ แล้วก็มาค้นหาตัวเองต่อว่าเราอยากเรียนศิลปะแขนงไหน สำคัญคือต้องไปอยู่ในจุดที่เราชอบและทำได้ดี สุดท้ายก็มาเจอคณะสถาปัตย์ และผมก็เรียนจบที่ลาดกระบัง

ตอนที่เรียนศิลปะ ชอบตรงที่ มันไม่มีถูกไม่มีผิด มันจะมีแต่คำว่า “พอดี” กับ “กลมกล่อม” เปรียบเหมือนงานออกแบบนะ ถ้ามันเยอะไป มันจะรู้สึกขัดตาทันที เช่น ผนังที่ Garage แว๊บแรกที่ใครเอารูปมาติด เราจะรู้สึกทันทีว่ามันเกินละ แต่สำหรับคนอื่น มันมองคนละมุม ซึ่งเขาไม่ผิดนะ เพราะเขาไม่ได้ออกแบบ เขาอาจรู้สึกว่า โห ผนังนี้กำลังดีเลย (เสียงหัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่า ถ้ามันมีรถ 3 คันมาจอดตรงนี้ รูปนี้มันจะเกินทันที นั่นแหละคือความพอดี

ชอบศิลปะ แล้วทำไมถึงเลือกเรียนสถาปัตย์

คุณกร: ผมชอบในเชิงช่าง ชอบในเชิงของการคิด และชอบการสังเกตจึงเลือกเรียนสถาปัตย์ อย่างในช่วงที่พี่ชายผมเรียนที่คณะ มัณฑนศิลป์ที่ศิลปากร แต่เราได้มาเรียนที่ลาดกระบัง และเมื่อไหร่ที่ได้เข้าเมืองมาหาพี่ชาย เรามีความรู้สึกว่าในเมืองมันศิวิไลซ์มาก คือมีวัดพระแก้ว มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีอาคารบ้านเมืองที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ ซึ่งทำให้บ้านเมืองดูสวยดี แต่กับไปมองที่ลาดกระบังมีแต่หอพักทาสีชมพู บ้าง ทาสีฟ้า ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยสวยงาม มันก็มีความรู้สึกเลยว่ามันแย่ เมื่อไหร่มันจะดีกว่านี้

มันก็เริ่มทำให้เราคิดเรื่องของการมองชุมชน คือถ้าชุมชนมันสวย อะไรๆ ก็สวย มันจุดประกายให้เราอยากเป็นนักออกแบบที่ดี และเรามีโอกาสได้เริ่มจากการออกแบบบ้าน เริ่มจากคนตัวเล็กๆ ก็เป็นที่มาของการคิดว่าเราจะทำออฟฟิศที่จะออกแบบบ้านยังไง

อยากให้เล่าชีวิตในช่วงเรียน

คุณกร: ผมเรียนเยอะไปหน่อย เรียนมากกว่าเพื่อนๆคนอื่น (หัวเราะ) เลยต้องทำ Thesis 2 ปี ไม่จบ

Thesis ของผมที่นำเสนออาจารย์ในวันนั้นมันดีเกินไป (หัวเราะ) จริงๆแล้วที่ไม่จบเพราะเราไปเถียงอาจารย์ ผมมักจะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกน้องฟังเสมอๆ แล้วก็จะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟังเมื่อเค้าโตขึ้น คือมันเป็นเรื่องของ Mindset คนที่เป็นอาจารย์ ท่านก็จะมีความไม่นอกเส้น แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ นั่นคือวิถีของ Designer นะ ยกตัวอย่างเช่น สระว่ายน้ำใครบอกว่าต้องเป็นสีฟ้า ใครบัญญัติให้สระว่ายน้ำเป็นสีฟ้า สระว่ายน้ำเป็นสีดำได้มั้ย? สีขาวได้มั้ย? ก็เลยเถียงอาจารย์ และถูกให้ Jury ใหม่ในปีหน้า เรียกว่า เราน่าจะแจ้งเกิดวันนั้น มันคือความต่าง เพื่อน 10 คน เชื่ออาจารย์ 9 คน เราคนเดียวที่ไม่เชื่อ แต่เพื่อน 9 คนเรียนจบหมดเลยนะ (หัวเราะ) ผมเป็นคนเดียวที่เรียนไม่จบพร้อมเพื่อน

แต่ผมเป็นคนที่ทำงานนอกกับอาจารย์เยอะมากในสมัยที่ยังเรียนอยู่ ได้ทำงานกับอาจารย์หลายท่าน ทำเยอะและทำงานไวด้วย ซึ่งอาจารย์ท่านก็น่ารักมาก ไปรับงานมาเต็มเลย แล้วก็โยนพิมพ์กระดาษไขแบบก่อสร้างให้ผมแก้แบบ ให้ผมขูดแบบเป็นประจำ แบบก่อสร้างของแต่ละบริษัทสถาปนิกเจ๋งในยุคนั้น ผมแก้มาเกือบหมดแล้ว (หัวเราะ) มันก็เลยซึมซับไง ทำทุกวัน ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 10 บาท ทำงานไวด้วย สิ้นเดือนได้ค่าแรงประมาณ 2,000 กว่าบาท ไปเซนทรัลลาดพร้าวเลย ซื้อกางเกงยีนส์ Levi’s 501 กระดุมเงินของแท้ใส่ นั่นคือได้ทำงานเยอะมาก ตังค์ได้น้อยมากแต่มีความสุขจริงๆ

จุดเริ่มต้นหลังจากเรียนจบ

คุณกร: เปิดออฟฟิศเลยครับ ไม่เคยเป็นลูกน้องใครเลยครับ เปิดออฟฟิศเล็กๆ เป็นของตัวเอง เป็นคนไม่อยากใส่ Uniform ไม่ชอบเข้าประชุมที่เป็นทางการเยอะๆ ผมเลือกจะกอดคอลูกน้องทุกเช้า แล้วถามว่า เฮ้ย เมื่อวานเป็นไง ไปไซต์งานมา ติดอะไรบ้าง ไปเอากระดาษมาเดี๋ยวจะ Sketch แล้วเคลียร์แบบที่ติดอยู่ให้เลยทันที แต่ที่ทำแบบนี้ได้ อาจจะเพราะออฟฟิศผมมีแค่ 10 คนเองนะ

ส่วนชื่อ BROWNHOUSES พ้องเสียงมาจากคำว่า Bauhaus ที่เยอรมัน มันตรงกับที่เราทำ “บ้าน” พอดี เกิดจากความที่เราอยากเป็นสถาปนิกที่ Specialist เฉพาะทาง ส่วนหนึ่งไม่ชอบตึกสูง อยากออกแบบบ้านอย่างเดียวดีกว่า และก็ชอบบ้าน ชอบคน ชอบการใช้ชีวิตของคนในบ้าน ชอบ scale งานที่ไม่ใหญ่มาก แต่ผิดคาดเลย คำว่าไม่ใหญ่มาก แต่กลายเป็นเรื่องมากที่สุดเลย (หัวเราะ)

สิ่งที่ได้จากการออกแบบบ้านมา19-20 ปี คือการฝึกเรื่องความอยากได้ของมนุษย์ มันคือการสร้าง Space ตามความต้องการให้กับทุกคนในบ้านซึ่งต่าง Generation กันด้วย มันทำให้เราได้ฝึก “ความย้ำคิดย้ำทำ” การศึกษาพวกนี้บ่อยๆ ทำให้เรามั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง ทุกวันนี้ทำบ้านหลังละ 400 ล้าน หรือหลังละ 40 ล้าน ก็ทำเหมือนกัน ดูแลให้เจ้าของบ้านทุกคน เดินตรวจงานระหว่างการก่อสร้างให้ทุกหลัง ตากแดดจนผิวเริ่มตกกระ (หัวเราะ) ซึ่งเราคิดว่า เราคงทำแบบนี้ต่อไป ย้ำคิดย้ำทำ และจะทำอีกต่อไป เพราะมันคือหน้าที่ของสถาปนิก


ที่มาที่ไปของการมาร่วมงานกับโครงการ Issara Residence Rama 9 ของชาญอิสสระ

คุณกร: ก็ได้คุยกับคุณปลาวาฬ ชวนมาเพิ่มมูลค่าบ้าน แล้วก็เพื่อให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ กับ Trend ของเมือง และชีวิตเมืองมากขึ้น คุณปลาวาฬก็เกิดไอเดียในเรื่องอยากทำ Garage ก็เลยชวนมาทำ ปลาวาฬบอกว่าถ้าจะทำ Garage ต้องเป็นพี่เท่านั้น ผมเลยรับมาออกแบบพื้นที่ตรงส่วนนี้ โดย A49 ก็ออกแบบอาคารได้สวยงามอยู่แล้ว Pattern จังหวะมันดีอยู่แล้ว เราก็มาปรับพื้นที่ตรงนี้ให้เป็น Garage ประมาณนั้น

ทำไมการออกแบบ Garage ต้องเป็นคุณกร

คุณกร: ผมว่ามันเริ่มมาจากชีวิตตัวเอง ผมทำงานโดยมี “รถ” บางคันบางรุ่นที่ เป็นแรงบันดาลใจ (หัวเราะ) การมีแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราตั้งใจงานออกแบบให้งานออกมาดี ทำให้เราคิดหาเงิน ส่วนตัวผมก็เก็บสะสมรถที่ผมชอบ จากคันที่ 1 ไป 2 ไป 3 จนถึงจุดที่มีรถหลายคัน เราก็อยากมี Garage แล้วเราเป็นสถาปนิกด้วย มันเลยเป็นส่วนผสมที่ลงตัวนะ

ย้อนไป 30 ปีก่อน คำว่า Garage มันยังไม่ฮิตขนาดหรอก พอเรามีรถ แล้วเราอยากมีที่เก็บ เราก็ยึดหลักว่าที่เก็บต้องดี ในเชิงสถาปัตยกรรมมันคือเรื่องสภาพแวดล้อม พื้นที่ แสงไฟ สตอรี่ต่างๆ ของเจ้าของรถ เหมือนเราไปร้านอาหารดีๆ แล้วเราสงสัยว่าทำไมผัดกะเพราถึงจานละแพงๆ มันไม่ใช่แค่อาหารอร่อยละ มันมีเรื่องบรรยากาศ การจัดไฟ และการเล่าเรื่อง ทั้งหมดเรียกรวมว่าความงาม ดังนั้น เราก็ควรนำรถของเราไปอยู่ในที่ที่มีความงามเหล่านั้นล้อมอยู่


อยากให้ขยายความความโดดเด่นของ Garage ในแบบของ BROWNHOUSES

คุณกร: สำหรับเรานะ การออกแบบ Garage ที่ดีต้องมีเรื่องของ “ชีวิต” เป็นส่วนประกอบ สมัยก่อนผมชอบไปร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ หนังสือที่ชอบดูมากๆ ในยุคนั้นคือ Garage life ของประเทศญี่ปุ่น คือส่วนตัวเราชอบประเทศญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นมาก ผมรู้สึกว่าเขาจริงจังกับการชีวิตมากเลย ทำอะไรทำจริงและตั้งใจมาก เหมือนที่เราเห็นเวลาเราไปซื้อขนมโมจิ กว่าจะได้กินลูกหนึ่ง มันผ่านรายละเอียดมากมาย จนเราไม่กล้ากิน (หัวเราะ) นี่คือความละเมียดของคนญี่ปุ่น ห่อจนสวยใส่กล่องสวยๆ นี่น่าจะเป็นรากเหง้าของคน

Magazine Garage Life ของคนญี่ปุ่น ไม่ได้ขายที่ความแพง บางเล่ม แค่มีมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าคันนึงเป็น Motocross และมีหมวกกันน็อคอันนึงที่เลอะๆ มีรอยเยอะๆ นั้นหมายถึง Story การขับมอเตอร์ไซค์ของเขา ต่างกับบ้านเราที่ตีความ Garage ว่ามันต้องแพง มันต้องใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่ในขณะที่เราได้มาออกแบบพื้นที่ตรงนี้ บ้านราคาระดับนี้ ความงามของบ้านในส่วนอื่นๆ มันบ่งบอกความแพงอยู่แล้ว แต่เหมือนผมเข้ามาเติม “ชีวิต” ผ่านการออกแบบ Garage ผ่านประสบการณ์ของผมกับรถ

เหมือนมีคนเดินมาบอกผมว่า G-Class โคตรแข็งเลย อย่าไปซื้อนะ อย่าไปขับเลย แข็งมาก ผู้ใหญ่หลายคนมาถามผม ผมถามกลับว่า ใครบอกพี่มาครับ แล้วคนที่บอกเคยขับ G-Class มั้ย แล้วก็ได้คำตอบว่า”ไม่เคยขับ” แต่สำหรับผม ผมตอบได้ เพราะผมมีประสบการณ์กับมัน ที่มันแข็งก็เพราะ Character รถ รถคันสิบล้านจะแข็งเป็นเกวียนได้ยังไง (หัวเราะ)


คุณกรใส่ชีวิตเข้าไปใน Garage ของ Issara residence rama9 ยังไง

คุณกร: ผมจำลองสถานการณ์เมื่อมีชีวิตเข้ามาอาศัยในพื้นที่ที่ผมออกแบบเสมอ ถามว่าทำไมผมถึงออกแบบให้มีกระจกกั้นระหว่างส่วนนั่งรับรองกับพื้นที่จอดรถ หลายคนมาเห็นบอกทำไมไม่ทำประตูเปิดปิดให้เข้าออกได้ อันนี้เป็นเรื่องของ Function เนอะ สังเกตว่าตรงนี้มีกระจกอยู่ตรงหน้า ไม่เปิดด้วย ไม่มีประตูเปิดปิด เหตุผลเพราะอยากให้นั่งชมรถอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจว่า ทั้งบ้าน ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องการชื่นชมรถ ภรรยาเดินลงมา ลูกเดินลงมา ถ้าเปิดประตูชนรถ จบเลย มันเป็นการ Security ส่วนนึง เป็นการสร้าง space ส่วนนึง อันนี้อาจจะมองเป็นเหตุผลสำหรับเด็ก แต่สำหรับภรรยา คิดว่าแต่ละบ้าน สามีชอบรถ ภรรยาจะชอบมั้ย เวลาอยู่กับรถ ต่อให้เป็น Super Car มันเหม็นน้ำมันนะ เมื่อกี้สามีเอารถไป Burn มา เหม็นน้ำมันมาก บรรยากาศเสียทันที

อีกอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือเรื่องของความร้อน ออกแบบให้ความร้อนไม่มากระทบถึง โดยเฉพาะ Super car นี่โคตรร้อนนะ จอดนี่ร้อนจนฝ้าขึ้นได้เลยนะ นี่คือการออกแบบ Space ทั้งสองส่วนให้สัมพันธ์กัน ทำให้มัน Connect กันอย่างกลมกล่อม

ส่วนอีกฝั่งที่พื้นที่เชื่อมต่อโดยตรงกับส่วนรับรอง ผมตั้งใจให้จอดรถประเภท Classic นิยามคือ รถใหม่มีไว้ใช้ รถเก่ามีไว้ดู มันเหมือน Art piece ชิ้นหนึ่งในบ้าน แล้วผนังต่างๆ ที่รายล้อม ออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้านเลย อาจจะแขวนผลงานศิลปะหรือความชอบต่างๆ ของเขา มันจะค่อยๆ สะสมประสบการณ์ มันเป็นพื้นที่ที่เขาจะแสดงถึงชีวิตของเขาเกี่ยวกับรถยนต์หรือสิ่งที่เขาชื่นชอบ

จะบอกว่าผมเคยออกแบบบ้านที่จอดรถได้ประมาณ 30 คัน เขาสะสมแม้กระทั่งรถดับเพลิงนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า การที่จะเก็บรถบางอย่าง มันคือรสนิยมของแต่ละบ้าน อย่าไปโฟกัสว่ามันต้องเป็น Super Car อย่างเดียว เขามีรถดับเพลิง เขากรี๊ดมากกว่ารถ Super Car อีกนะ


อยากบอกอะไรกับลูกค้าที่จะต้องมาใช้ชีวิตอยู่กับงานออกแบบ Garage ของบ้านหลังนี้

คุณกร: ตอนแรกก็มีโจทย์มาอยู่แล้วว่าลูกค้าต้องชอบรถ และจอดรถได้หลายคัน ตรงนี้ก็รองรับได้แน่ๆ 7-8 คันสบายๆ พอเราต้องออกแบบงานที่เรายังไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของคนที่มาใช้งาน เราก็ต้องจินตนาการความต้องการทั่วไป อาทิ…

โทนสี เราอยากให้บ้านหลังนี้เหมือนบ้านฝรั่งนิดๆ ไม่อยากเป็น Tropical ทั่วๆ ไป และตั้งใจให้มองไม่เห็น Decorate ในบ้านเลยจากมุมมองของ Garage เมื่อแขกหรือใครมาเยือนแล้วเดินเข้าบ้านจากทาง Garage จะเกิด Wow space ขึ้น เหมือนพื้นที่ไม่เชื่อมต่อ แต่จริงๆ มันเชื่อมต่ออย่างมีนัยยะ

สำหรับคนที่จะมาอยู่บ้านหลังนี้ หากผมเปรียบกับการดื่มคอกเทลดีๆ ไวน์ดีๆ หรือวิสกี้ดีๆ คนที่มาอยู่จะเป็นคนที่ดื่มมันด้วยอารมย์มากกว่า สุนทรีย์มากกว่า ไม่ได้ดื่มให้เมา พูดแบบตรงๆ ต้องเป็นคนที่ไม่ดื่มไวน์ขวด 3,000 แต่ดื่มไวน์ขวดละ 30,000 หรือเป็นแสนเลย แล้วเลือกดื่มกับคนที่เรารัก ดื่มกับเพื่อนรัก 2-3 คน เน้นที่คุณภาพ นั่นคือความพิเศษ


มองภาพ Garage ของบ้านหลังนี้ในอีก 10 ปีอย่างไร

คุณกร: Project นี้ มัน Timeless สำคัญคือต้องไม่ตาม Trend เราตามเมื่อไหร่ Trend เปลี่ยนทันที เราต้อง Unique ถ้าเปรียบก็เหมือน G-Class นี่คือ Timeless ของมัน คือขับไปไหนมันก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่กำเนิด ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นแบบนี้ จนทุกวันนี้ คนโหยหา นี่คือสิ่งที่มันจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ผมหมายถึงพื้นที่ตรงนี้นะ แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคือสิ่งของในพื้นที่นี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารถไฟฟ้ากำลังจะมา พฤติกรรมมนุษย์และการใช้ชีวิตที่มากขึ้นจะมาเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่มันจะเป็น Space ที่ถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น มี Story มากขึ้น

อีก 10 ปีหรืออีกนานแค่ไหน มันจะไม่ได้เป็นแค่ Garage ที่ใช้จอดรถเท่านั้น...