Spotlight

เปิดเส้นทางอาชีพ Food Stylish กับ “พิมฝัน“

หน้าตาของอาหารที่สวยงาม เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ


หน้าตาของอาหารที่สวยงาม เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ ยิ่งมีสีสันสดใส ย่อมดึงดูดใจไปแล้วครึ่งนึง แต่ใครจะรู้ว่ากว่าผลงานภาพอาหารที่เห็นจะออกมาสวยงามได้ ย่อมมีเบื้องหลังอย่างอาชีพ Food Stylist อาชีพนี้เขาทำอะไรกัน ทำไมต้องมีอาชีพนี้ และอาชีพนี้มีความสำคัญอย่างไร Issara Life Ep. นี้จะพาท่านผู้อ่านมาร่วมหาคำตอบไปกับ พิมฝัน ใจสงเคราะห์ผู้อยู่เบื้องหลังงานศิลปะจานอาหารที่รังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

พิมฝัน ใจสงเคราะห์สาวนิเทศศิลป์ สถาปัตย์ฯ มจธ.เธอไม่ได้เรียนด้านการทำอาหารมาก่อน แต่มีความสนใจในเรื่องของศิลปะที่เกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะงานFood Stylish ซึ่งถือเป็นอีกงานศิลปะที่มีผู้คนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนที่ผันตัวจากการเป็นChef มาก่อนหรือคนที่สนใจศิลปะการจัดจาน แต่ในเนื้องานของ พิมฝัน เธอใช้มุมมองการเล่าเรื่องราวผ่านภาพผ่านจานอาหารทั้งหมดเพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนผ่านตัวสินค้า

“ไม่ได้เน้นการเล่าเรื่องผ่านจานอาหารทั้งหมด ไม่ได้เป็นคนที่คิดว่าเมนูนี้เราจะใส่วัตถุดิบอะไร แต่ในการทำงานจะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับChef มากกว่า”


จุดเริ่มต้นของเส้นทาง Food Stylish ของ พิมฝัน เริ่มจากใฝ่ฝันอยากเป็นช่างภาพ เธอได้ลงเรียนถ่ายรูป จัดไฟสตูดิโอ และเข้าฝึกงานที่ Amarin printing จนจับพลัดจับผลูก้าวสู่เส้นทางการเป็นผู้ช่วยช่างภาพของนิตยสารชีวจิต ประจวบกับในขณะนั้นเองชีวจิตก็ยังไม่มีสไตลิสต์ จึงต้องทำหน้าที่สไตลิสต์จัดของ จัดอาหารสุขภาพสำหรับถ่ายทำลงนิตยสารควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งได้รู้จักกับนิตยสาร Health & Cuisine ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสไตลิสต์เช่นกันจึงขอลองผันตัวเองไปฝึกงานและรับผิดชอบหน้าที่สไตลิสต์ให้กับ Health & Cuisine


ตัดสินใจลองเปลี่ยนตัวเอง จากการที่มีรุ่นพี่ที่เป็นช่างภาพซึ่งเขามีโอกาสได้ทำ Creative Director ให้ Greyhound café ก็ชวนเราไปทำ โดยความรับผิดชอบหลักคือดูแล Shop Image ภาพลักษณ์ของร้านและดูแลตัวอาหาร เป็นเหมือน Art director ให้กับร้าน เวลาเราจะจ้างดีไซเนอร์หรือบรีฟคนที่มาตกแต่งร้าน เราก็ต้องมีโจทย์ให้เค้าไปทำอยู่ 4 ปี แล้วจึงออกมาทำของตัวเองภายใต้บริษัท Lower Back Pain CO.,LTD ซึ่งเปิดมาแล้วเกือบ 3 ปี

สำหรับขั้นตอนในการทำงานสายอาชีพ Food Stylish อันดับแรกคือการรับบรีฟว่า อาหารนี้เป็นอาหารประเภทไหน ขายอะไรบ้าง มีหน้าร้านไหม ซึ่งการรับบรีฟแต่ละครั้งเราต้องได้โจทย์จากลูกค้ามาให้ครบถ้วน ต้องได้จุดเด่น จุดขาย Marketing Plan ของลูกค้าด้วย เราถึงจะนำสิ่งเหล่านั้นมาคิดงานต่อได้ นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่าที่ลูกค้าต้องการถ่ายภาพหรือวิดีโอ จะนำไปใช้กับช่องทางไหนบ้าง เพราะเราต้องรู้ว่าสัดส่วนหรือ Compose ภาพเป็นยังไง จำนวนกี่รูป เพื่อที่จะเอามาบริหารจัดการว่าต้องถ่ายจำนวนกี่วัน


ในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจทำ Food Stylish มีความหลากหลายมาก มีทั้งแบรนด์ใหญ่ ร้านอาหารใหญ่ รวมไปถึง SMEแบรนด์เหล่านี้ต้องการหาคนที่สามารถ Manage งานให้เขาได้ คิด สร้างสรรค์ วางคอนเซปต์ให้ จากนั้นก็ถึงขั้นตอนของการ Pre-Production ทำสไลด์เสนอโจทย์ที่ได้รับวางDirection ของภาพว่าจะมีประมาณไหน แบ่งเป็นกี่อย่าง แล้วให้ลูกค้าพิจารณาหลังจากมีการตกลงซื้อ เราก็นำเสนอปรับแก้งานจนได้ชิ้นงานที่ไฟนอลถัดมาเราจะ Develop รูปออกมาแต่ละรูป สมมุติใน 1 วันที่เราจะถ่าย 15 รูป เราต้องคิดว่า 15 สเก็ตของออกมาเป็นยังไงได้บ้าง จากนั้นจึงเริ่มถ่ายแล้วก็รีทัชภาพ ส่งงาน โดยภาพที่นำไปใช้ส่วนใหญ่จะลงในสื่อโซเชียลเป็นหลัก

ในส่วนของการทำงานด้านนี้ ย่อมมีปัญหาและอุปสรรค เหมือนกันกับงานทั่วๆ ไป ซึ่งพิมฝัน เล่าว่า การทำงานมียากหลายส่วน โดยเฉพาะการทำงานให้ออกมาถูกใจลูกค้า ถูกใจคนดู เพราะบางครั้งลูกค้าเองอาจจะยังไม่มีทิศทางความต้องการว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้เราไม่สามารถจับทางลูกค้าได้ถูก การทำงานจึงต้องใช้เวลา โยนหินถามทางบ้าง หารูปมาประกอบให้ดูบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าเกิดไอเดีย และช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้การทำงานออกมาดีและถูกใจทั้งลูกค้า และคนทำงาน


ส่วนความประทับใจของการทำงานนี้นั้น “เราจะรู้สึกดีเวลาที่ลูกค้าเข้ามาแล้วบอกว่าเราชอบงานคุณ มีคนที่เขาชอบงานจริงๆ เขาเห็นถึงความตั้งใจ เห็นถึงความหมายที่เราใส่เข้าไปในภาพๆนั้น เขาเล็งเห็นมัน มองมันเป็น Art ไม่ใช่แค่รูปที่เอาไว้ใช้ขาย เราก็จะรู้สึกว่ามีคนที่เห็นคุณค่าในงานเรา เข้าใจงานเรา เหมือนได้มี Community ใหม่ๆ กับคนที่ทำอาหาร ในวงการอาหาร บางคนไม่ใช่แค่ทำอาหารอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ Chef อย่างเดียว แต่เขาามองเห็นศิลปะเหมือนกัน เหมือนเรา ก็รู้สึกดี”

ดังนั้นจุดแข็งในการทำงานด้านนี้ของเรา เราต้องมีสไตล์ที่ชัดเจนมองเห็นแล้วต้องนึกถึงว่านี่คืองานของ พิมฝัน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การจัดอาหาร สไตล์การใช้แสงแรงๆ ที่มีความชัดเจนสื่อความเป็นตัวตนงานของพิมฝัน ซึ่งมันทำให้คนจดจำภาพเราในแบบนี้


พิมฝันทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่สนใจอาชีพ Food Stylish ต้องหาสไตล์ตัวเองให้เจอ หาจุดแข็งตัวเองให้ได้ว่าชอบอะไร แล้วพัฒนาลงทุนกับสิ่งนั้นเพื่อที่จะทำ Portfolio ของตัวเองให้คนมีภาพจำเรา ไม่ว่าจะเป็น ความโดดเด่น ความแหวกแนว ซึ่งมองว่าการลงทุนตรงนี้คุ้มค่าก่อนที่จะมาถึงวันนี้ได้อาจจะต้องศึกษาแล้วก็ลองค้นหาตัวเองจริงๆ ความเป็นสไตลิสต์ต้องมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่เป็นใครก็ได้ อย่างน้อยต้องมีสิ่งที่ทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร